การทำงานภายในโรงพยาบาล ประกอบไปด้วยระบบงานต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบการรักษาพยาบาล ระบบตรวจทางห้องปฏิบัติการ ระบบเอกซ์เรย์ ระบบโภชนาการ ระบบบุคลากร ระบบจ่ายกลาง ระบบบำรุงรักษา ระบบเภสัชกรรม เป็นต้น ซึ่งระบบเหล่านี้จะอยู่ภายใต้ระบบสารสนเทศในโรงพยาบาล (Hospital Information System) หรือที่เรียกกันว่า HIS ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการกลางที่ช่วยบริหารงานต่าง ๆ เหล่านี้ภายในโรงพยาบาล
อ่านตามหัวข้อ
4 ข้อดีของระบบคลาวด์ที่ทำให้บริการสาธารณสุขดีขึ้น
โดยทั่วไประบบ HIS จะเป็นแบบ on-premise คือมีห้องเก็บอุปกรณ์ และระบบ IT infrastructure อยู่ที่ภายในพื้นที่ของโรงพยาบาลเอง ซึ่งมีข้อดีคือโรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการเองได้ แต่ก็ต้องดูแลระบบการควบคุมอากาศและไฟฟ้า รวมไปถึงจัดซื้อ ติดตั้งและซ่อมบำรุงระบบด้วยตัวเอง ในขณะที่ปัจจุบันมีรูปแบบการให้บริการที่เรียกว่า on-cloud คือบริหารจัดการผ่านเครือข่ายของผู้ให้บริการระบบคลาวด์ ที่สามารถช่วยบริหารจัดการระบบงานต่าง ๆ ได้ตามการใช้งานจริง ซึ่งนอกจากนี้ยังมีข้อดีด้านอื่น ๆ จากการนำระบบคลาวด์ไปใช้ในโรงพยาบาล ดังต่อไปนี้
Consumerism รองรับการเติบโตของแนวโน้มพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค
ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่คนไข้เท่านั้น แต่รวมไปถึงแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และบุคคลทั่วไปที่อยากแข็งแรงและรักษาสุขภาพดี ซึ่งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบคลาวด์ เช่น IoT Big data หรือ AI จะอำนวยความสะดวกในการประมวลผลข้อมูลที่ช่วยให้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังยกระดับความปลอดภัยการรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการอีกด้วย
Interoperability สามารถบูรณาการระบบงานที่ให้บริการสุขภาพได้ดีขึ้น
โดยระบบคลาวด์ที่มีลักษณะการใช้งานผ่านการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่าย มีข้อดีคือช่วยให้ระบบต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ การพัฒนาฐานข้อมูลที่ครอบคลุมและต่อยอดบริการใหม่ทำได้ง่ายขึ้น
Scalability สะดวก มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการใช้งานระบบ
สามารถเพิ่มหรือลดทรัพยากรในการใช้งานได้ทันที ที่สำคัญคือข้อได้เปรียบทางด้านราคา โรงพยาบาลสามารถประหยัดต้นทุนจากการคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นรายชั่วโมงหรือตามจำนวนระบบที่ใช้บริการ ไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งทีมงานไอทีให้ดูแลระบบ รวมไปถึงสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ระบบไฟฟ้า-ควบคุมอากาศ เป็นต้น
Prevention-oriented ให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
ลดภาระความยุ่งยากในการบริหารจัดการ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญที่คอยดูแลระบบให้โดยเฉพาะ โรงพยาบาลสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่ไปทุ่มเทให้กับการยกระดับมาตรฐานบริการสุขภาพได้อย่างเต็มที่
4 ตัวอย่างนวัตกรรม “Healthcare cloud computing” ที่พลิกโฉมอนาคตระบบสาธารณสุข
จากรายงาน Healthcare Cloud Computing Market จัดทำโดย Global Market Insights ระบุไว้ว่า มูลค่าตลาดการใช้ cloud computing ในอุตสาหกรรม healthcare ทั่วโลกเมื่อปีที่ผ่านมาสูงถึง 9 แสนล้านบาท และคาดการณ์ว่าอาจสูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท ภายในปี 2026 โดยมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นว่า cloud computing สามารถช่วยให้การทำงานภายในโรงพยาบาลดีขึ้นได้จริง และมีศักยภาพที่จะรองรับการให้บริการสุขภาพในอนาคตได้อีก ตัวอย่างของการนำ cloud computing มาช่วยระบบงานอะไรในโรงพยาบาลบ้าง มาดูกัน
Electronic Health Record งานเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์
ปกติโรงพยาบาลจะบันทึกข้อมูลประวัติการรักษาในรูปแบบเอกสารทั้งหมด ซึ่งมีความยุ่งยากตั้งแต่การบันทึก การจัดเก็บ ไปจนถึงการดึงมาใช้ ประโยชน์ของการนำ cloud computing จะช่วยให้สามารถจัดการกับฐานข้อมูลปริมาณมากและซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว สามารถนำข้อมูลมาประมวลผลเพื่อต่อยอดนวัตกรรมการรักษา และยังยกระดับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้บริการอีกด้วย
Pharmacy Information Systems ระบบคลังยาและเวชภัณฑ์
การบริหารจัดการข้อมูลระบบคลังยาและเวชภัณฑ์มีความซับซ้อน ยาแต่ละประเภทมีรูปแบบการจัดเก็บที่ไม่เหมือนกัน ระบบการจัดการเอกสารจะต้องมีการตรวจสอบและควบคุมให้เป็นระบบ การจัดการระบบคลังยาและเวชภัณฑ์ด้วย cloud computing จะเชื่อมต่อกับระบบเครือข่าย ช่วยให้ระบบต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ ช่วยในการจัดการ supply chain management ของยาและเวชภัณฑ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น
Radiology and Image Processing เทคโนโลยีประมวลผลภาพในงานรังสีวิทยา
นอกจากการจัดเก็บข้อมูลรูปภาพที่มีขนาดใหญ่ด้วย cloud computing จะอำนวยความสะดวกในการจัดการข้อมูลแล้ว การพัฒนา AI ที่ช่วยวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เพื่อประกอบการวินิจฉัยและรายงานผลการตรวจแบบอัตโนมัติ ลดภาระงานของรังสีแพทย์ ให้สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น
Revenue Cycle Management การจัดการการเงินและการบัญชี
ระบบการเบิกจ่ายและการจัดการการเงินภายในโรงพยาบาล ก็สำคัญไม่แพ้ระบบที่ช่วยเรื่องการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลจะต้องจัดการกับข้อมูลสิทธิการรักษาของคนไข้ บริษัทประกัน เงื่อนไขการเบิกจ่ายจากส่วนกลาง จำนวนมาก และจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลเพื่อให้มีรายได้ในการดำเนินการต่อไปได้ การนำ cloud computing มาใช้จะช่วยให้การดึงข้อมูลทำได้สะดวกขึ้น การเชื่อมต่อกับระบบงานอื่นทำได้ง่าย สามารถเบิกจ่ายได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้การนำ Cloud computing ไปใช้ในอุปกรณ์สวมใส่หรือในสมาร์ทโฟน (wearable device and IoT in healthcare) เพื่อวัดผลค่าสัญญาณชีพยังเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เป็นที่นิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพ แต่ปัจจุบันสำหรับในประเทศไทยอุปกรณ์เหล่านี้ยังไม่ได้ถูกรับรองให้เป็นเครื่องมือแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงไม่สามารถใช้ประกอบการวินิจฉัยในการรักษาของแพทย์ได้
4C get ready to be on-cloud! อยากใช้คลาวด์ โรงพยาบาลต้องเตรียมอะไรบ้าง
กระแสการใช้ Cloud เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอุตสาหกรรม healthcare กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก โดยกว่า 93%* ขององค์กรด้านสาธารณสุขทั่วโลกเริ่มเข้าสู่ Digital Transformation ซึ่ง 78% เริ่มใช้ cloud computing แล้วและอีก 20% อยู่ในช่วงทดลองเพื่อเริ่มใช้งานจริง
สำหรับหน่วยงานสาธารณสุขหรือสถานพยาบาลใดที่สนใจเพิ่มประสิทธิภาพการปรับกลยุทธ์การดำเนินการขององค์กรโดยการใช้เทคโนโลยี cloud computing เข้ามาช่วย ไม่ให้ถูก disrupt หรือถูกหยุดชะงักจากการไม่พัฒนาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก H LAB ขอนำเสนอขั้นตอนง่าย ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ cloud computing ดังนี้
(1) “Clarification” ทำความเข้าใจกับรูปแบบกิจกรรมที่ตัวเองทำอยู่
(2) “Classification” จัดลำดับของกระบวนการและข้อมูล ทั้งในเชิงชั้นความลับ และความสำคัญเร่งด่วน
(3) know your “Capability” รู้ว่าตัวเองพร้อมแค่ไหน เรื่องทีมงาน ความพร้อมด้านระบบ และความตระหนักเรื่องความปลอดภัยไอที
(4) “Comparison” เลือกผู้ให้บริการ cloud solutions ที่เหมาะกับองค์กรของเรา
อ้างอิง
Cloudcone. Global healthcare: How cloud computing can facilitate its growing needs in 2021. July 21, 2020.
Dhilawala, Abbas. 9 Keys Benefits of Cloud Computing in Healthcare. March 9, 2019.
Vinati Kamani, Arkenea. 5 Ways Cloud Computing Is Impacting Healthcare. October 2, 2019
รามาธิบดีพยาบาลสาร. ระบบสารสนเทศสำหรับพยาบาล ตอนที่ 4: ระบบสารสนเทศในโรงพยาบาล. หน้า 130-134. 1997.
*2021 Healthcare Digital Transformation Survey จัดทำโดย The BDO Center for Healthcare Excellence & Innovation
Lerksirinukul, Phatphicha. ระบบ Cloud แบบไหนที่เหมาะกับการใช้ในหน่วยงานด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาล?. April 16, 2019.
Lim, Jamilah. Cloud computing in healthcare is growing fast in APAC – here’s why. June 17, 2021.
Comments