top of page
  • Apichaya Sukprasert

วงการแพทย์ในยุค IT : ไปกันได้ดีหรือชีวิตลำบากกันแน่


doctor, it


สำหรับชาวสาธารณสุขแล้ว ต้องมีจังหวะเบื่อจังหวะรำคาญ กับโปรแกรมบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่ตบเท้ากันเข้ามาท้าทายความสามารถ(ในการใช้คอมพิวเตอร์)ของพวกเราอย่างเนืองแน่น


เคยไหมคะที่รำคาญถึงขั้นอยากร้องว่า “ตกลงจะมาช่วยให้ง่าย หรือจะแกล้งให้ยากขึ้นกันแน่เนี่ย!!”


ย้อนคิดถึงเรื่องเก่าๆ สมัยปิ้งเอกซเรย์ดูกับกล่องไฟแล้ว พวกเรามาไกลกันมากค่ะ วันนี้จึงอยากชวนย้อนรอยกันหน่อยว่า พวกเราผ่านอุปสรรคอะไรมา แล้วตกลงมันจะมาแก้ไขความยากให้ง่าย หรือจะแก้ให้ยากขึ้นกันแน่


ต้อนรับยุค IT วงการแพทย์ ที่กำลังคืบคลานเข้ามา



การมาถึงของโปรแกรมบันทึกเวชระเบียน


สิบกว่าปีก่อน การบันทึกเวชระเบียนคนไข้คนหนึ่ง หลังเปิดบัตรแล้ว เจ้าหน้าที่จะเอากระดาษแข็งๆซึ่งปริ๊นรอไว้เป็นหมื่นๆแผ่น มาเขียนชื่อ เลขโรงพยาบาล อาการโดยคร่าว แล้วส่งรอเข้าห้องตรวจ เพื่อไปพบกับแพทย์ ที่เขียนรายละเอียดด้วยลายมือไก่เขี่ย และสั่งยาแบบไส้เดือน


เรื่องราวเหล่านี้ดำเนินไปทุกวัน ในทุกจุดของการให้บริการ


ฟังดูทรมานใช่ไหมคะ


การมาถึงของโปรแกรมบันทึกเวชระเบียน ฟังดูเหมือนมาช่วยปลดปล่อยพวกเราจากความลำบาก แต่หารู้ไม่ว่าหายนะ(?)กำลังมาเยือน


ทันทีที่ผู้ใหญ่กำหนดให้เราลงทะเบียนผู้ป่วยผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์

...เราก็ทำทุกอย่างเหมือนเดิม

เพิ่มเติมคือทำงานอีกรอบลงคอมฯ!!


นั่นคือพยาบาลก็เขียนชื่อ นามสกุล เลขโรงพยาบาลลงกระดาษ จากนั้นก็เอากระดาษ มานั่งพิมพ์ทุกอย่างลงโปรแกรมอีกที เพื่อให้มีนำเสนอว่า ฉันใช้คอมพิวเตอร์แล้วนะ!


ด้านห้องยาก็แกะลายมือไส้เดือนเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือคีย์ไส้เดือนลงคอมพิวเตอร์อีกครั้ง


ที่สบายสุดเห็นจะเป็นหมอ ที่ยังไงๆก็ไม่ยอมใช้คอมพิวเตอร์ ยังจะเขียนประวัติลงกระดาษแข็งอันเดิมๆ ที่กลายเป็นเพิ่มงานให้ใครสักคนสแกนเข้าระบบในตอนท้าย (เพื่อนแพทย์อย่าโกรธกัน คนเขียนก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ)


อ่านถึงตรงนี้ อย่าขำว่าป้าพวกนี้โบราณจัง เชื่อเถอะว่าตอนนี้ก็ยังมีบางหน่วยงานทำ


ทำลงกระดาษ แล้วคีย์ลงคอมฯ แล้วเอากระดาษแสกนลงคอมฯ จากนั้นเอากระดาษมาทำข้อมูล แล้วเอากลับไปคีย์ลงคอมฯ แล้วปริ๊นออกมา แล้วสแกนลงคอมฯ .....วนไปวนมาแบบงงๆ ว่าฉันกำลังทำอะไร


ฟังดูลำบาก จนหลายคนถึงขั้นถาม ว่าจะมีโปรแกรมพวกนี้ไปทำไมกันแน่



ผ่านมาสิบกว่าปี ตอนนี้ผู้เขียนฝึกพิมพ์จนคล่องแล้วค่ะ


ตอนนี้เราพิมพ์ประวัติผู้ป่วยลงคอมฯ สั่งการรักษาในคอมฯ และรอผลที่จะส่งกลับมาทางหน้าจอ ทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นประจำคล้ายเรื่องธรรมดาทั่วไป


แต่แท้จริงแล้ว เราไม่ต้องเขียนชื่อคนไข้บนหัวกระดาษทุกหน้าอีกต่อไป ไม่มีใครต้องแกะลายมือใคร ไม่มีชื่อพลาด หน้าสลับ อ่านไม่ออกอีกต่อไปแล้ว


ความผิดพลาดหรือความเสี่ยงทั้งหลายที่เกิดขึ้นในวงการแพทย์ แบ่งออกได้ 2 แบบใหญ่ ได้แก่ ความผิดพลาดจากระบบ (System Error) และความผิดพลาดจากมนุษย์ (Human Error)


ระบบการทำงานผิดพลาด ก็ไปแก้ที่ระบบ แต่มนุษย์ทำงานพลาด หลายครั้งเราแก้ไม่ได้ มนุษย์มีขีดจำกัด อ่อนเพลียอ่อนไหว แม้พยายามเพียงใด แต่มนุษย์ยังจะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้อยู่ดี


การมาถึงของโปรแกรมบันทึกเวชระเบียน ช่วยตัดงานบางอย่าง ที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ (Human Error) ออกไป


การเขียนชื่อจั่วหัวกระดาษ ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญใช้ identify คนไข้

หรือการเขียนคำสั่งการรักษาด้วยลายมือ ที่มีแนวโน้มถอดคำผิดได้

หรือกิจกรรมในโรงพยาบาล ที่ไม่ควรทำด้วยมืออีกมากมาย


ทั้งหมดเป็นกุญแจสำคัญของ Humen Error ในยุคก่อนหน้านี้


—-


“ขอบคุณมากเลยหมอที่คีย์แลปเอง”


พี่พยาบาลระดับหัวหน้าขอบคุณเรา ตอนที่หมอในแผนกยินดีจะปรับมาเป็น paperless จริงๆ โดยจะคีย์แลปด้วยตัวเอง ยกเลิกระบบเขียนส่งให้พยาบาลติ๊กลงกระดาษ โดยมีห้องแลปคีย์ให้ตอนท้าย กลายมาเป็นต้นทางอย่างหมอรับจบในขั้นตอนเดียว (โดยที่หมอก็ไม่ต้องเขียนอะไรยึกยือเช่นกัน)


อันที่จริงมีงานหลายอย่างเป็นงานทำซ้ำๆ เพื่อส่งต่อข้อมูลหรือคำสั่งบางอย่าง ดั้งเดิมงานเหล่านี้เป็นภาระที่หน้างานแต่ละฝ่ายต้องจัดการให้ได้ แต่ในยุคที่มีเทคโนโลยีให้ใช้ เสมือนหนึ่งเราสร้างทางลัด ต่อทางด่วนจากต้นไปปลาย จึงลดภาระงานไปได้ในหลายจุดหลายขั้นตอน


นอกจากลดความเสี่ยงแล้ว ดูเหมือนเรายังลดภาระงานที่ไม่จำเป็นออกไปได้เช่นกัน



อย่างไรก็ตาม การจะบอกว่าเทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้น อาจเป็นคำตอบที่ไม่ตรงไปตรงมานัก


ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงหรือภาระงาน ล้วนเกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานที่เรากำหนดไว้

หากเราสนใจแต่จะใช้โปรแกรมต่างๆให้ได้ โดยไม่สนใจกระบวนการทำงานที่วางไว้ ย่อมกลับไปคล้ายช่วงแรกที่เราใช้โปรแกรมเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าใช้เท่านั้น


หลักใหญ่ใจความสำคัญ จึงควรเป็นการปรับกระบวนการทำงาน ให้สอดคล้องกับสภาพจริง ลดภาระไม่จำเป็น ปิดจุดเสี่ยงให้ได้ โดยมีเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ เป็นเครื่องมือช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้นั่นเอง


ดู 232 ครั้ง
bottom of page