top of page
  • Apichaya Sukprasert

จริงไหม? อย่างไร? กับกระจายแพทย์ลงทุกตำบล

จริงไหม? อย่างไร? กับกระจายแพทย์ลงทุกตำบล

doctor diagnosis

ขณะท่ีเขียนบทความนี้ เป็นช่วงก่อนการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีใหม่ถอดด้าม


หนึ่งในนโยบายที่คนเล่าลือกัน คงหนีไม่พ้น “การกระจายแพทย์ลงทุกตำบล” นั่นเอง


สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับระบบ ประเทศเราจัดตั้งโรงพยาบาลล้อกันไปกับเขตการปกครองของทางมหาดไทย


จังหวัดมีโรงพยาบาลประจำจังหวัด เรียกว่า โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการระดับตติยภูมิ (Tertiary Care) ดูแลโรคยากและซับซ้อน

อำเภอมีโรงพยาบาลประจำอำเภอ เรียกว่า โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ทำหน้าที่ระดับทุติยภูมิ (Secondary Care) ดูแลโรคที่ซับซ้อนน้อยลงหน่อย

ตำบลมีโรงพยาบาลประจำตำบล เรียกว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล(รพ.สต.) หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อสถานีอนามัย ทำหน้าที่ระดับปฐมภูมิ (Primary Care) เน้นส่งเสริมสุขภาพ รักษาโรคทั่วไป


ทั้งนี้ในกลุ่มจังหวัดใกล้เคียงกัน มักมีโรงพยาบาลประจำจังหวัดสัก 1-2 แห่ง ที่พัฒนาให้ใหญ่กว่าเพื่อน เรียกว่าโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) (Tertiary to Upper Tertiary Care)


จะสังเกตได้ว่า รพ.แต่ละระดับถูกพัฒนาด้วยกรอบเป้าหมายที่แตกต่างกันไป


(จากนี้ขออนุญาตใช้ตัวย่อ)


สำหรับรพ.สต.แล้ว เดิมทีมักมีเจ้าหน้าที่จำกัด อาจเป็นพยาบาลหรือนักวิชาการสาธารณสุข ที่ยินดีอยู่ประจำพื้นที่เล็กและห่างไกล การให้บริการจึงเน้นให้ความรู้ ฉีดวัคซีน จ่ายยาสามัญทั่วไป แต่ก็เข้าถึงง่าย ไม่ต้องลำบากเดินทาง อย่างสโลแกน “ใกล้บ้านใกล้ใจ” ที่ชาวสาธารณสุขคุ้นเคยกันดีนั่นเอง


อย่างไรก็ตาม หลายปีหลังนี้ ได้มีการยกระดับศักยภาพรพ.สต.ให้สูงขึ้น


เริ่มมีการเวียนแพทย์ลงตรวจตามรพ.สต.ต่างๆ เริ่มจากกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (NCDs เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง) โดยคัดเลือกเคสที่ไม่หนักหรือซับซ้อนนัก แต่จำต้องรับยาประจำ และปรับพฤติกรรมบางอย่าง มีการพัฒนารพ.สต.ติดดาว ให้สามารถดูแลเคสฉุกเฉินที่มาขอความช่วยเหลือเฉพาะหน้าได้อย่างถูกต้องก่อนส่งต่อรพ.ใกล้เคียง รวมไปถึงกิจกรรมเฉพาะ อย่างการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยหนักผู้ป่วยติดเตียง ที่ต้องการการดูแลซับซ้อนระยะยาว


กิจกรรมทั้งหมดนี้ นับว่าไม่ง่ายนัก ยังต้องการแพทย์ดูแลประจำ ที่อาจไม่ใช่เพียงแพทย์ที่มาหมุนเวียน


การพัฒนารพ.สต. ให้เป็น Primary Care Unit ที่ดำเนินการได้เต็มศักยภาพ จึงมาพร้อมกับการพัฒนาแพทย์เฉพาะทางสาขาที่เรียกว่า แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Doctor)



แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือหมอครอบครัว เป็นสาขาที่คนไทยไม่คุ้นเคยนัก

หากใครเคยดูหนังยุคโบราณ อาจเคยเห็นตัวเอกตามหมอประจำตระกูลมาบ้านบ้าง หมอครอบครัวก็คล้ายกัน แต่อยู่ในยุคสมัยที่แตกต่าง และมีงานที่กว้างขวางและซับซ้อนกว่าหมอประจำบ้านใด


หมอครอบครัวจะอยู่ประจำชุมชน ทำหน้าที่ตรวจโรคทั่วไป ให้แก่ทุกคนทุกวัย จึงมีความเข้าใจสภาพเฉพาะของแต่ละบุคคล แต่ละครอบครัวหรือชุมชน ที่มีบริบทแตกต่างกัน


เขาจะทำหน้าที่ตั้งแต่ตรวจรักษาเบื้องต้น ไปจนถึงบริหารจัดโรคยากๆ คนไข้ของเขาอาจถูกส่งต่อไปรักษากับแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ เขาจะทำหน้าที่บริหารให้คนไข้ของเขาได้รับการรักษาจากหลากหลายหมออย่างลื่นไหล


แม้หมอครอบครัวจะไม่ลงลึกในโรคเฉพาะทางใด แต่เขาอาจเป็นหมอที่เข้าใจคนไข้ และเป็นที่รักและเชื่อใจที่สุด


โดยหน้าที่แล้ว หมอครอบครัวจึงมักประจำอยู่ที่ Primary Care Unit ของชุมชนนั้นๆ ในต่างประเทศอาจเป็นคลินิคใกล้บ้าน หรือส่วนปฐมภูมิของรพ.สักแห่งที่จัดแยกไว้ เมื่อเทียบกับประเทศไทย จึงอาจเทียบเคียงได้กับ รพ.สต. นั่นเอง


ฉะนั้นแล้วการที่รพ.สต.จะมีแพทย์ประจำ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด


ทว่า อาจไม่ง่ายดายอย่างที่คิด



ในไทยยังมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวไม่มากนัก

หมอครอบครัวยังไม่เป็นที่รู้จัก ไม่เฉพาะกับคนทั่วไปเท่านั้น แม้กับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ในวงการสาธารณสุขด้วยกัน ก็ยังมีส่วนที่สับสนไม่เข้าใจเนื้องาน


ปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งในการพัฒนาหมอครอบครัว คือความไม่เข้าใจสาขาวิชา นำไปสู่ความไม่ชัดเจนในการจ่ายเนื้องาน แม้คนส่วนใหญ่จะทราบว่าส่วนปฐมภูมิมีความสำคัญมาก แต่ก็ไม่เข้าใจนักว่าทำงานอะไรหรืออย่างไร หลายครั้งแพทย์ด้วยกันยังคิดเพียงงานสบาย มีเพื่อแบ่งเบาคนไข้ง่ายๆจากรพ. แม้แต่ผู้บริหารบางส่วนยังงุนงงว่าทิศทางการพัฒนาควรมุ่งไปทางใด


นำไปสู่ปัญหาเรื้อรังตลอดชีวิตการทำงาน


นอกจากนี้ ขณะที่แพทย์ส่วนใหญ่ แม้ค่าตอบแทนจะมากบ้างน้อยบ้าง แต่มักมีช่องทางรับงานเอกชนเสริมรายได้ แต่หมอครอบครัวโดยเฉพาะในที่ห่างไกล แทบไม่มีช่องทางเสริมรายได้ ทั้งค่าเวรภายในรพ.ก็น้อยเต็มที เปรียบเทียบกับเพื่อนแพทย์รุ่นเดียวกันแล้ว กลายเป็นช่องว่างขนาดใหญ่


ด้วยปัญหาที่รุมเร้าทั้งภายนอกภายใน ทำให้หมอครอบครัวบางส่วนตัดสินใจ reboard (เรียนเฉพาะทางสาขาใหม่) เปลี่ยนสายงาน หรือออกจากวิชาชีพในที่สุด



นโยบายกระจายแพทย์ลงประจำทุกรพ.สต. แง่หนึ่งเป็นทิศทางที่ควรพัฒนาไป เรียกว่าวันหนึ่งต้องทำให้ได้ แต่อีกแง่ การปูพรมนโยบายโดยหวังให้เป็นไปได้ในทันที หรือเพียงไม่กี่ปี ย่อมเป็นไปได้ยาก และอาจเกิดผลกระทบสะท้อนกลับได้


1.เนื้องานและทิศทางการพัฒนา

แม้การกระจายแพทย์ลงทุกรพ.สต. จะฟังดูเป็นประโยชน์ต่อประชาชนก็ตาม แต่หากขอบเขตหน้าที่ไม่ชัด ทิศทางการพัฒนายังไม่แน่นอน รวมไปถึงระบบแวดล้อมยังไม่พร้อม ย่อมกลายเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ในระยะยาวได้


ปัญหาหนึ่งที่ผลักให้หมอครอบครัว(และอาจรวมถึงสาขาอื่นๆ)ลาออก คือเนื้องานที่ยัดเยียดในจุดที่ไม่พร้อม และหย่อนยานในเรื่องที่ควรทำได้ หากเรากระจายแพทย์ลงไป ยังพื้นที่ที่นโยบายยังไม่ชัดว่าควรทำสิ่งใดพัฒนาไปทิศใด ย่อมกลายเป็นการผลักให้บุคลากรที่ไม่เพียงเฉพาะแพทย์เท่านั้นลาออกจากระบบอย่างน่าเสียดาย


1.จำนวนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวยังน้อยเกินกว่าจะทำได้จริง

หากลงนโยบายทันที อาจมีรพ.สต.บางแห่งที่มีความพร้อมกว่า (เช่น โอนย้ายไปสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถจัดจ้างผ่านงบท้องถิ่น) แย่งชิงหมอครอบครัวไปประจำเฉพาะรพ.สต.ของตน ในภาพรวมจึงเท่ากับลบออกจากระบบกลางไป หรืออาจมีบางพื้นที่ไม่สามารถหาหมอครอบครัวได้ จึงใช้แพทย์สาขาอื่นทดแทน กรณีนี้มิใช่แพทย์สาขาอื่นมีศักยภาพไม่เพียงพอ แต่สาขาวิชาที่หลากหลาย ในระยะตั้งไข่นโยบาย อาจถือเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณา หรือรพ.สต.บางแห่งที่หาแพทย์ไม่ได้เลย ก็อาจเกิดแม้แต่ปรากฎการณ์แขวนป้าย


นโยบายกระจายแพทย์ลง Primary Care Unit เป็นสิ่งที่ควรทำให้ได้ แต่อาจต้องทำเป็นลำดับขั้นไป พร้อมๆกับการพัฒนาขอบเขตเป้าหมาย และเพิ่มจำนวนหมอครอบครัวจบใหม่ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม



คุยเรื่องเครียดน่าวิตกกันไปแล้ว มาย้อนดูเหตุการณ์ในปัจจุบันกันค่ะ

แม้จะบอกว่าหมอครอบครัวมีน้อย แต่ก็มีหลายพื้นที่ที่แก้ปัญหาหมอน้อยได้อย่างยอดเยี่ ยมค่ะ


หมอครอบครัวปัจจุบันสังกัดอยู่ตามรพ.ระดับต่างๆ แม้ระดับของรพ.จะแตกต่าง แต่เมื่ออยู่ในจังหวัดเดียวกัน ก็จะแบ่งเขตกันดูแลรพ.สต.


หมอครอบครัวที่รพท.(รพ.ประจำจังหวัด) ก็จะดูแลรพ.สต.ในเขตอำเภอเมือง

หมอครอบครัวที่รพช. (รพ.ประจำเภอ) ก็จะดูแลรพ.สต.ในเขตอำเภอของตน

หมอครอบครัวที่รพท.มักมีจำนวนมากกว่ารพช. แต่ผู้คนในเขตเมืองก็มักมีจำนวนหนาแน่นกว่าอำเภอรอบนอกเช่นกัน


หมอครอบครัวท่านหนึ่ง อาจดูแลรพ.สต. 3-4 แห่ง (ตัวเลขอาจแตกต่างกันมากระหว่างพื้นที่) ในเดือนหนึ่งๆ นอกจากงานประจำในรพ.ที่สังกัดอยู่แล้ว ก็จะลงตรวจผู้ป่วยโรคเรื้อรังหมุนวนไปตามรพ.สต.ที่ตนรับผิดชอบ ดูแลงานเยี่ยมบ้านซึ่งมักเป็นผู้ป่วยติดเตียงซับซ้อน วางแผนจัดการผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษ นับตั้งแต่ตัวโรคเอง ไปจนถึงปัญหาครอบครัวหรือสภาพแวดล้อม ที่ทำให้การรักษาโรคประจำตัวทำได้ยาก


เนื่องจากมีจำนวนน้อย ขอบเขตงานมาก หมอครอบครัวในหลายพื้นที่จึงทั้งจัดทำแนวปฏิบัติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่หน้างานสามารถปฏิบัติงานโดยอัตโนมัติได้ หรืออีกหลายแห่ง จัดทำช่องทางตรวจรักษาระยะไกล เรียกได้ว่าใช้เทคโนโลยีจัดทำ Telemedicine ตามกำลังของตน


แม้ขณะนี้ จำนวนหมอครอบครัวจบใหม่จะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ อัตราการคงอยู่จะไม่มากนัก และแม้ยังมีคนอีกมากที่ไม่เข้าใจเนื้องานด้วยซ้ำ แต่หมอครอบครัว รวมถึงชาวปฐมภูมิทุกท่าน ก็ช่วยกันให้ระบบเป็นรูปเป็นร่าง และเดินหน้าอย่างมั่นคงต่อไป


และอาจเป็นรากฐานให้กับระบบ Primary Care Unit อย่างที่ควรจะเป็นในอนาคต


ดู 158 ครั้ง
bottom of page