top of page
  • Apichaya Sukprasert

เสียงจากชายแดนถึงความหวังครั้งใหม่

เวลาคุณเห็นคนตกอยู่ในอันตรายถึงแก่ชีวิต คุณจะอยากช่วยเขาไหม?


หากไม่มีเหตุพิเศษ เช่น เขาเป็นฆาตกรชั่วร้าย หรือมิได้มีเหตุสุดวิสัย เช่น ไปช่วยเขาแล้วเราจะตายตามไป เราทุกคนคงมีใจอยากช่วยไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน


เพราะนั่นคือมโนสำนึกพื้นฐานของมนุษย์


แต่หากบอกว่านี่คือเรื่องจริง คือปัญหาจริงจากโรงพยาบาลตามแนวตะเข็บชายแดนทั่วไทย ที่ต้องเลือกระหว่างความเป็นความตายของเพื่อนมนุษย์ กับความถูกต้องเป็นธรรมต่อเพื่อนร่วมชาติไทย


คุณจะยังคิดเหมือนเดิมไหม

และนี่คือเสียงจากชายแดนไทย ถึงความหวังครั้งใหม่ที่ปลายอุโมงค์


nursing sitting and waiting for hope

——————


ปลายเดือนก่อนมีข่าวดัง โรงพยาบาลตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ จังหวัดตาก ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายหนี้จำนวนมหาศาล และอาจถึงขั้นไม่สามารถหมุนเงินดำเนินกิจการต่อไปได้


สาเหตุเพราะพวกเขา “ค้างค่ารักษาพยาบาลให้เพื่อนมนุษย์ที่มิใช่ชาวไทย”


เกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขนานใหญ่ ทั้งจากคนทั่วไปและบุคลากรในวงการ


หลายท่านมองว่า การรักษาพยาบาลไม่ควรเลือกเชื้อชาติศาสนา แต่อีกหลายท่านก็มองว่า การรักษาใช้ภาษีราษฎรไทยเป็นสำคัญ การแบ่งทรัพยากรที่มีอยู่ไม่มากออกไปย่อมไม่เป็นธรรม รวมถึงมองไปอีกฝั่ง บุคลากรหน้างานต่างทำงานหนัก เกินไปกว่าอัตรากำลังที่คำนวณจากฐานประชากรไทย


หรือแท้จริงแล้วมนุษยธรรมในโลกความฝัน ไม่อาจไปด้วยกันกับความถูกต้องเป็นธรรมในโลกแห่งความจริง


—————


หลายปีก่อน เราเคยถามคำถามคาใจกับคุณหมออาวุโสแถบชายแดนท่านหนึ่ง


“ทำไมต้องช่วยคนไข้ที่ไม่ใช่คนไทยด้วย”


“ช่วยไปก็โดนคนว่าว่าช่วยทำไมเปลืองภาษี”


“จริงอยู่คนจะตายไม่ช่วยไม่ได้ แต่อย่างนั้นทำไมเราไม่ช่วยเฉพาะคนที่หนักใกล้ตาย ไม่หนักก็ปล่อยไว้ ไม่ผิดจรรยาบรรณ ไม่โดนคนว่าด้วย”



ในตอนแรกเราคาดเดาเพียงคำตอบจำพวกช่วยเพื่อมนุษยธรรม ช่วยเพราะเป็นคนเหมือนกัน เหมือนทุกครั้งที่มีคนถาม


แต่ผิดคาด

คำตอบแตกต่างออกไป


คุณหมอท่านนั้นถามกลับมาว่า


“ในการรักษาผู้ป่วยรายหนึ่ง ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรักษา จะต่ำสุดและสูงสุดที่จุดใด”



แท้จริงแล้วปัญหาค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาล ไม่อาจแก้ไขด้วยการไม่รักษา มันมิได้ตื้นเขินเพียงนั้น


ผู้ป่วยบาดทะยัก 1 ราย มีค่าใช้จ่ายโดยประมาณหลักล้าน ขณะที่วัคซีนบาดทะยัก มีราคาอยู่ที่ไม่ถึงร้อย

ผู้ป่วยปอดอักเสบหายใจล้มเหลว มีค่าใช้จ่ายจากการใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ที่หลักหมื่นถึงแสน แต่ผู้ป่วยปอดอักเสบระยะแรกๆ มีค่ายาอยู่ที่หลักไม่กี่สิบบาท


ไม่ต้องถามนักเศรษฐศาสตร์ ถามเด็กประถมที่นับเลขได้ก็รู้ว่าแบบไหนคุ้มกว่า


ฉะนั้นการเลือกที่จะไม่รักษาเพียงเพราะผู้ป่วยรายนี้มิใช่คนไทย โดยที่เขาเหล่านั้นก็ไม่อาจหาหนทางรักษาตนเองด้วยวิธีอื่นได้ จึงมิใช่การแก้ปัญหา มิใช่การลดค่าใช้จ่าย


แต่อาจเป็นการดันให้ค่าใช้จ่ายในตอนท้าย สูงกว่าที่ควรจะเป็นในตอนแรกนับร้อยนับพันเท่าทีเดียว


—————


ในเชิงวิชาการ เรามีสิ่งที่เรียกว่า Primary, Secondary และ Tertiary Prevention


Primary Prevention คือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค (เช่น ฉีดวีคซีน ใส่หน้ากาก)

Secondary Prevention คือเมื่อเกิดโรคแล้ว รักษาไม่ให้เป็นมาก ป้องกันไม่ให้ผลกระทบรุนแรงไป (เช่น อาการไหนให้รีบไปรักษา)

Tertiary Prevention คือเมื่อโรคนั้นเกิดผลกระทบระยะยาวไปแล้ว ทำอย่างไรให้ผู้คนอยู่กับผลนั้นได้อย่างดีที่สุด (เช่น กายภาพ ฝึกช่วยเหลือตัวเอง)


จะให้ดีเราต้องมี Primary prevention ให้มาก แต่หากเกิดโรคแล้วต้อง Secondary prevention ให้ไว


พูดแบบไม่โลกสวย ไม่ใช่เพื่อช่วยชีวิต แต่เพื่อลดภาระค่ารักษา ลดความแออัด เปิดเตียงว่าง ลดภาระงาน ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขโดยรวม

หรือจะมองให้กว้างขึ้น ลดคนป่วยหนักในครอบครัวได้คนหนึ่ง ย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมในด้านอื่นๆเช่นกัน


หรือแท้จริงแล้วไม่เพียงในความฝัน แต่มนุษยธรรมสามารถเดินร่วมทางกันกับความเป็นธรรมอื่นในโลกได้จริง


—————


“แล้วถ้าเราตัดสินใจไม่รักษา และปล่อยเขาตายไปเลย มันจะแก้ปัญหาไหม”


นี่อาจเป็นคำถามที่ทุกคนอยากรู้แต่ไม่มีใครกล้าถาม



หลายสิบปีที่ผ่านมา บุคลากรรุ่นแล้วรุ่นเล่าจากไป ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มิได้มีสัญชาติไทย ยังคงเป็นภาระของโรงพยาบาลตามแนวชายแดนเสมอมา ซ้ำร้ายบางครั้งยังถูกเพ่งเล็งว่า ยึดถือจรรยาบรรณจนเกินตัวไป


แต่หากดูในรายละเอียด จะพบว่าผู้มิได้มีสัญชาติไทย มิใช่ต่างด้าวที่เข้าไทยผิดกฎหมายมาหางานทำเท่านั้น หากแต่มีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์รวมอยู่ด้วย


พวกเขาเหล่านี้เกิดและเติบโตในไทย เรียนโรงเรียนไทย(บางส่วนเรียนถึงมหาวิทยาลัย) ทำงานแบบคนไทย จับจ่ายใช้สอยแบบคนไทย เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย แต่ด้วยปัญหาทางทะเบียนราษฎร์บางประการ จึงไม่อาจเป็นคนไทยได้


พวกเขาอยู่รอบตัวเรา อาจเป็นเพื่อนฝูงเป็นคนรักของเราด้วยซ้ำ


คำตอบของคำถามที่ว่า “ทำไมต้องรักษาคนไข้ที่ไม่ใช่คนไทย” จึงไม่อาจสมบูรณ์ได้ หากขาดความเข้าใจในมิติสังคมและวัฒนธรรม


ด้วยเส้นแบ่งความเป็นคนไทยนั้น ช่างลางเรือนและซับซ้อนกว่าที่คิดไว้


—————


“ถ้าปล่อยให้เขาตาย คิดว่าเราจะเสียอะไรไป”


คำตอบถูกส่งกลับมา


“เราจะเสียหมอที่ดีคนหนึ่ง”


“เสียความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบสาธารณสุขไป”


“และเราจะเสียชาวบ้าน…เสียประชาชนไป”


“สิ่งเหล่านี้มีค่ามากกว่ามาก…มากจริงๆ”



การรักษาผู้ป่วยที่มิใช่สัญชาติไทยนั้น มิได้เกิดจากมนุษยธรรมอันเพ้อฝันหรือตื้นเขิน แต่เกิดจากความเข้าใจพื้นที่ชายแดนอย่างลึกซึ้ง ผ่านการมองโลกตามความจริง ด้วยหัวใจอันเป็นธรรม


และหวังอย่างยิ่งว่า การแก้ปัญหาจากภาครัฐ จะผ่านการพิจารณาอย่างรอบด้าน ผ่านทุกมิติและมุมมอง


ดู 30 ครั้ง
bottom of page