top of page
  • Apichaya Sukprasert

เวรย่อมระงับด้วยการ…ปรับการจัดตารางเวร



nurse scheduling and stress


รูปแบบการจัดเวรที่ตายตัว


การจัดเวรดั้งเดิม 1 เวรมี 8 ชั่วโมง 1 วันมี 3 เวร การขึ้นเวรลงเวรจะเกิดขึ้นพร้อมกัน ส่งเวรอย่างพร้อมเพรียงกันทั้งหน่วยงาน ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาช้านาน


หากแต่ในปัจจุบัน ธรรมเนียมนี้เริ่มถูกท้าทาย


“อันที่จริงเราขึ้นเวร 8 ชั่วโมง แต่เคลียร์งานส่งเวรอีก 2 ชั่วโมง ไม่ยุติธรรม”

เสียงหนึ่งเล่าให้ทีมงานฟัง ค่าแรงของพยาบาลไม่ถือว่าสูงนักอยู่แล้ว มาเสียเวลาเพิ่มโดยไม่ได้อะไร ย่อมรู้สึกไม่ถูกต้อง


“ทำไมเราไม่จัดเวรให้มันคร่อมกันหน่อย ได้เงินเพิ่ม ได้ส่งเวรสบายใจ วิน-วินทั้งสองฝ่าย”

“หมายถึงยังไงนะคะ”

“ก็...อยากให้เวรเป็น 10 ชั่วโมงค่ะ ขึ้นซ้อนๆกัน อ้อ...หนูว่าเราไม่ต้องส่งเวรพร้อมกันก็ได้ค่ะ”

น้องพยาบาลหน้างานตอบกลับมา


ว่าแต่...จริงๆแล้วเวรหนึ่งควรมีกี่ชั่วโมงกันนะ


ความยาวของเวร


อันที่จริงหลายๆรพ.เริ่มจัดเวร day-night หรือเวร 12 ชั่วโมงกันแล้ว โดยเฉพาะเอกชนเป็นที่นิยมมาก


เวร 12 ชั่วโมง แม้จะยาวกว่า 8 ชั่วโมง แต่เท่ากับไม่มีวันใดเลยที่ต้องขึ้น 16 ชั่วโมงติดต่อกัน ซึ่งถือว่าหนักและเหนื่อยเกินไป


เวร 12 ชั่วโมง ยังเท่ากับการันตีเวลาพักอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นานพอจะพักหลับอย่างเพียงพอได้ ต่างกับเวร 8 ชั่วโมง ที่หากควบ 2 เวร (เท่ากับ 16 ชั่วโมง) อาจเจอช่วงพักเพียง 8 ชั่วโมง ที่แค่ตัดเวลาเดินทาง แปรงฟันอาบน้ำ ก็จะเหลือเวลาพักหลับจริงๆ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป


เวร 12 ชั่วโมงจึงเป็นตัวเลือกใหม่ ที่หลายรพ.เริ่มหันมาใช้กัน


“แต่เวร day-night ทำให้หนูแทบไม่ได้ป้อนข้าวลูกเลยค่ะ”

พยาบาลแม่ลูกเล็กเล่า


เวร 12 ชั่วโมง มักตัด 7-19 หรือ 8-20 (อาจมี 6-18) เท่ากับพวกเขาเสียเวลากินข้าวพร้อมหน้าทั้งเช้าและเย็นไป สำหรับคนโสดช่วงเวลานี้อาจสำคัญในฐานะเวลาสังสรรค์ผ่อนคลาย


อย่างไรก็ตาม การจัดระยะความยาวของเวร อาจไม่จำกัดแค่ 8 หรือ 12 ชั่วโมงเท่านั้น


บางรพ.ในไทยมีการจัดเวรเสริม 2-4 ชั่วโมง ขึ้นช่วยหน่วยงานที่ยุ่งในบางช่วงเวลา ขณะที่ต่างประเทศมีการจัดเวรด้วยหลักคิดคล้ายกันแต่ซับซ้อนกว่า เช่น ยืดหดระยะเวลาเวรของแต่ละตำแหน่งให้ไม่เท่ากัน เพื่อให้ปริมาณพยาบาลรวมเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ต้องการ หรือแม้แต่เพียงต้องการจัดตารางให้ยืดหยุ่นกับคนที่มีธุระและขอเป็นพิเศษไว้


วิธีการจัดเช่นนี้จำต้องอาศัยเทคโนโลยีจัดการข้อมูลมาช่วย ซึ่งอาจถือเป็นขั้นกว่าของโปรแกรมจัดตารางเวร


การผลัดเวร


จำเป็นหรือไม่ที่การผลัดเวรจะต้องตายตัวและเกิดขึ้นพร้อมกัน


ระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ประเทศสวีเดน มีการจัดเวลาผลัดเวรแตกต่างกันไปในแต่ละวัน และไม่เหมือนกันในรถแต่ละคัน!


วันนี้ Amb no.01 ผลัดเวรที่ 10.00 และ 18.00 ขณะที่พรุ่งนี้ผลัดที่ 7.00 และ 17.00

ส่วน Amb no.02 วันนี้ผลัดเวรที่ 6.00 และ 16.00 ขณะที่พรุ่งนี้เป็น 10.00 และ 18.00


สาเหตุเพื่อมิให้มีช่วงเวลาที่เป็นจุดอ่อน ทุกช่วงมีรถที่พร้อมปฏิบัติงานเสมอ


นอกจากนี้ยังเพิ่มความยืดหยุ่นให้เจ้าหน้าที่ บริหารจัดการเวลาของตนได้ง่ายขึ้น ชีวิตสมดุลมากขึ้น ย่อมมีความพึงพอใจสูงขึ้นเป็นธรรมดา


อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับการทำงานในหอผู้ป่วยของไทย ที่มีเวลาให้ยา เวลาวัดสัญญาณชีพ หรือแม้แต่เวลาญาติเข้าเยี่ยมคงที่ การจัดเวลาผลัดเวรสลับไปมา อาจไม่เหมาะสมนัก


แต่หากปรับวิธีคิดมาใช้ ให้บางตำแหน่งผลัดเวรเหลื่อมกัน ปลายเวรของคนหนึ่ง เป็นต้นเวรของอีกคน อาจลดความเสี่ยงที่เกิดในช่วงอ่อนล้าปลายเวรได้


หรือหากมีงานลักษณะไม่ตายตัว เช่น ห้องฉุกเฉิน จุดคัดกรอง งานให้คำปรึกษา ฯลฯ การปรับให้ผลัดเวรเหลื่อมกัน อาจช่วยให้การทำงานราบรื่นขึ้นได้


มีงานวิจัยในต่างประเทศค้นพบว่า ผู้ป่วยที่ค้างในห้องฉุกเฉินนาน สัมพันธ์กับช่วงส่งเวรพยาบาล อย่างมีนัยยะสำคัญ นำไปสู่ไอเดียการจัดเวรเหลื่อมในห้องฉุกเฉิน


ที่จริงในไทย มีการใช้ไอเดียเวรเหลื่อมแล้ว แต่เป็นการผลัดกันไปกินอาหารในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เพื่อให้มีจำนวนพยาบาลเหลือในห้องฉุกเฉินมากพอจะปฏิบัติงานอย่างราบรื่น โดยคนที่ไปพัก ก็พักอย่างไม่ต้องห่วงพะวงค่ะ


การจัดเวรในอนาคต


จินตนาการต่อไป

หากระยะเวลาของเวรหนึ่งๆไม่จำกัดแค่ 8 ชั่วโมง แต่ยืดหดไม่เหมือนกันในแต่ละวัน

เราอาจมีเวลาใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ โดยไม่เสียงานก็เป็นได้


หากการผลัดเวรของแต่ละตำแหน่งไม่ตรงกัน

อาจช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้


หากจัดให้เวลาเวรคร่อมกัน เธอขึ้นแล้วอีกสักพักฉันถึงลง

เราจะมีเจ้าหน้าที่มากขึ้น ตามจังหวะของภาระงานได้


ถ้าเราสามารถบริหารจัดการข้อมูลทั้งหมด คนไข้มากภาระงานหนักในช่วงใด ต้องการคนเท่าไหร่ ณ จุดเวลาไหน เจ้าหน้าที่อยากลาเวลาใด เราจะไม่เพียงเพิ่มความสุขจาก work-life balance ที่ถูกเรียกคืนมา แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ยกระดับมาตรฐานขึ้นอีกขั้น


ดูเหมือนการจัดเวรที่คล้ายเป็นเรื่องตายตัวนั้น กลับซ่อนความเป็นไปได้บางอย่าง ที่อาจจะใหญ่โตกว่าที่คาดไว้



วิธีบริหารเวรเช่นนี้ อาจมองเหมือนหลุดกรอบไปบ้าง จะเบิกจ่ายอย่างไร จะคิดวันทำการอย่างไร อีกทั้งการจัดเวรที่ไม่เหมือนกันในแต่ละวัน กับเงื่อนไขที่หลากหลาย แม้น้อง Shift ของเราจะช่วยจัดตารางได้หลายรูปแบบ แต่ก้าวแรกคงไม่ง่าย


ดู 728 ครั้ง
bottom of page