top of page
  • Apichaya Sukprasert

วิธีการจัดตารางเวรพยาบาล (Nurse scheduling) ให้เหมาะสมกับ Circadian Rhythm จังหวะทางกายภาพ


circadian rhythm


หนึ่งในความทุกข์ทรมานของพี่ๆน้องๆแม่ๆพยาบาล คือการทำงานไม่เป็นเวร่ำเวลา


สมัยผู้เขียนวัยสะรุ่น เคยคิดง่ายๆแค่ว่า อยู่เวรบ่าย-ดึกก็ดี จะได้มีเวลาตอนเช้าไปเที่ยวเล่นได้ เชื่อว่าหลายท่านคงคิดเหมือนกัน


แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น


วันนี้เรามาคุยกัน เรื่องธรรมชาติของมนุษย์ และการจัดเวรอย่างถูกต้องกันค่ะ


---


"เวรดึก ไม่ใช่การทำงานที่ย้ายไปอยู่ตอนดึก"

เคยมีงานวิจัยที่ให้มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ในที่ไม่รู้เวลาไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน


ถ้าเราไม่รู้เวลา เช้ากับดึกคงไม่ต่างกันใช่หรือไม่


แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ผู้ร่วมวิจัยหลับและตื่นในจังหวะที่ล้อกันไปกับเวลาภายนอกได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องรู้เวลาเลย


นั่นเพราะคนเรามี Circadian Rhythm หรือจังหวะทางกายภาพ ที่ผันแปรใน 1 วัน(โดยประมาณ) เหนี่ยวนำให้เราตื่น หลับ สดชื่น ง่วงงุน หมุนวนกันไป


Circadian Rhythm เกิดขึ้นผ่านกลไกสารสื่อประสาทและฮอร์โมนต่างๆ ที่หลั่งออกมาในเวลาที่แตกต่าง ส่งผลต่อการตื่นหลับ ไปจนถึงการทำงานของร่างกาย ณ ช่วงต่างๆของวัน


นั่นคือ การนอนหรือทำงานในเวลาที่ผิดจากธรรมชาติที่ควรเป็นของมนุษย์นั้น ไม่อาจทดแทนหรือแม้แต่เทียบเท่ากิจกรรมนั้นๆตามเวลาปกติได้


เวรดึกจึงเป็นเวรที่เกิดข้อผิดพลาดมากกว่าเวรเช้าอย่างเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง


ในแง่สุขภาพส่วนตัวแล้ว เวรดึกก็ทำร้ายเรามากกว่าเวรเช้าเช่นกัน


---


"แล้วควรจัดตารางเวรพยาบาล (Nurse scheduling) อย่างไร"

สมมติวันนี้ดึก พรุ่งนี้บ่าย ถัดไป เช้า ดึก บ่าย ดึก เช้า แล้วเพื่อนชวนเราไปกินปิ้งย่างมะรืนนี้ เราอาจไปผิดวันได้


โดยทั่วไป ตารางเวรพยาบาล (Nurse scheduling) จะแบ่งช่วงการทำงานทีละ 8 ชั่วโมง ได้แก่ เช้า(8-16), บ่าย(16-24), และดึก(24-8) (อาจมีต่างบ้าง)


แม้ร่างกายมี Circadian Rhythm คอยคุม แต่ก็ใช่ว่าจะปรับตัวไม่ได้


แต่หากปรับครั้งหนึ่ง ยังไม่คุ้น ก็ต้องปรับใหม่ คอมพิวเตอร์ยังแฮงก์ได้ หัวสมองเราก็เช่นกัน


การจัดเวรที่ดี จึงควรจัดเป็นชุด เผื่อเวลาให้ร่างกายปรับสมดุลก่อนหน้านั้น และให้สลับเวรน้อยครั้งที่สุดเท่าที่ทำได้


ไม่ได้มีตัวเลขชัดเจนนะคะ ว่าควรจัดเป็นชุดกี่วัน แต่เชื่อว่าร่างกายเราใช้เวลาปรับ(ประมาณ) 6 วัน ส่วนเวรดึกก็ไม่ควรอยู่ยาวนัก เพราะอย่างไรเสียร่างกายก็ปรับจน 100% ไม่ได้


---


"แล้วควรหมุนเวรอย่างไร"

ที่จริงแล้ว Circadian Rhythm มีรอบการทำงานอยู่ที่ประมาณ 25 ชั่วโมงค่ะ มากกว่าเวลาปกติ 1 ชั่วโมง


คนเราจึงนอนดึกขึ้นง่ายกว่านอนเช้าขึ้น


การหมุนเวรก็เช่นกัน

ควรหมุนให้ดึกขึ้นไปตามเข็มนาฬิกา


เช้าควรหมุนไปบ่าย บ่ายควรไปดึก ส่วนดึกควรไปเช้า (แต่ควรพักก่อนนะ ไม่งั้นจะเป็นดึกต่อเช้า)


การหมุนเวรเช่นนี้จะปรับง่ายและไม่มึนเมา เท่ากับหมุนทวนเข็ม ซึ่งเสมือนทุบ Circadian Rhythm ของร่างกาย


นอกจากนี้ การหมุนตามเข็มจะมีเวลาพักระหว่างเวร เช่น เช้าไปบ่ายอยู่ที่ 16+8 ชั่วโมง ขณะที่ถ้าทวนเข็มบ่ายไปเช้าจะเหลือแค่ 8 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยเกินไป


---


"เวรดึกเจ้าปัญหา"

อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามแค่ไหน แต่สุขอนามัยกับเวรดึกก็ยังเป็นศัตรูคู่อาฆาต


เนื่องด้วยการนอนหลับ "ตามเวลา" ธรรมชาติ สำคัญต่อการฟื้นฟูร่างกายทุกมิติ


ขณะที่เวรบ่ายแม้เวลาทำงานจะผิด แต่เวลานอนยังพอปรับให้คล้อยตามได้


แล้วจะจัดเวรดึกอย่างไรให้กระทบชีวิตและสุขอนามัยน้อยที่สุด


มีวิธีคิด 2 แบบค่ะ

1.แบบดั้งเดิม

วิธีเดิมเราคุ้นเคยดี จัดเวรหมุนเวรไป พยายามให้เวรดึกไม่มากไป ให้มีเวลาพักปรับตัว


2.แบบรอบ 1 เดือน

จาก American Collage of Emergency Physician (ซึ่งเป็นแพทย์ที่การจัดเวรคล้ายพยาบาล) แนะนำวิธีจัดเวรที่แหวกแนวมากค่ะ


เขาแนะนำว่า ใน 1 ปี เจ้าหน้าที่แต่ละคนจะมี 1 เดือน ที่อยู่เวรดึกไปเลยทุกวันทั้งเดือน!


ในเดือนนี้ วันไหนออฟก็จัดให้เพื่อนมาขึ้นแทนเป็นวันๆไป


เท่ากับใน 1 ปี เจ้าหน้าที่แต่ละคนก็จะมี 11 เดือน ที่สามารถนอนหลับตามเวลาธรรมชาติได้


ส่วนอีก 1 เดือน ก็เป็นชุดเวรดึกที่นานพอให้ร่างกายปรับตัวปรับใจ


ก็นับเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน (แต่อาจจะโหดสำหรับคนมีครอบครัวลูกเล็กนะคะ)


---


อันที่จริง หลักการจัดเวรยังมีอีกมากนะคะ แถมยังมีงานวิจัยเพิ่มเติมเป็นระยะๆ ด้วยว่าความสำคัญของการจัดเวร ไม่ใช่เพียงสุขอนามัย หรือเวิร์คไร้บาลานซ์ของบุคลากรเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพการรักษาโดยรวม


ทั้งหมดถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารทุกระดับต้องใส่ใจค่ะ


ก็หวังว่าคุณภาพชีวิตของบุคลากรทุกระดับชั้น จะได้รับความสนใจและปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นเรื่อยๆ


bottom of page