top of page
  • Apichaya Sukprasert

สิทธิการแปลงเพศ กับ สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ต้นเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา สปสช.ประกาศให้ทราบทั่วกัน ว่า “การแปลงเพศ” สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ์


ข่าวนี้นำความสงสัยใคร่รู้ และเกิดการถกถามกันในโลกโซเชียล ถึงความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ที่หัตถการดังกล่าวนี้...พูดอย่างเข้าใจง่าย ฟรีสำหรับคนไทยทุกคน


ก็ในเมื่อ LGBTQ+ ไม่ถือเป็นโรค แต่ถือเป็นรสนิยม เช่นนั้นแล้วการผ่าตัดที่เกิดจากรสนิยมจะฟรีโดยภาษีประชาชนได้อย่างไร

แต่อีกข้างก็แย้งว่า มีใครอยากเกิดมาเพศทางกายไม่ตรงกับทางใจ จำต้องแก้ไข ก็ควรนับเป็นการรักษาอย่างหนึ่ง


วันนี้เราจะค่อยๆมาเข้าใจไปพร้อมๆๆกันค่ะ






การประกาศของสปสช.


ก่อนจะไปถึงหัวข้อสำคัญ เราอาจต้องทบทวนก่อนว่า สปสช. ไม่ได้มาประกาศข่าวว่า กำหนดให้การผ่าตัดแปลงเพศสามารถเบิกจ่ายได้ เพราะที่จริงการผ่าตัดดังกล่าวนี้สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ์ตั้งแต่ พ.ศ.2561 แล้วค่ะ


สำหรับท่านที่งง(เราจะลงรายละเอียดในหัวข้อถัดไป) อาจคิดโดยง่ายว่า มีหลายชีวิตที่เกิดมาพร้อมพยาธิสภาพทางกาย เช่น ภาวะอวัยวะเพศกำกวม หรือมีปัญหาที่เกี่ยวพันกับอวัยวะเพศใดๆ ทำให้การผ่าตัดรักษา ซึ่งมีส่วนซ้อนทับกับการแปลงเพศนั้น สามารถเบิกจ่ายได้


อย่างไรก็ดี กลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งมี “ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในการแปลงเพศ” ก็สามารถใช้สิทธิ์ได้ หากแต่ที่ผ่านมา ยังไม่เป็นที่ทราบกันเป็นวงกว้าง อีกทั้งการแปลงเพศทั้งกระบวนการ ยังประกอบด้วยหัตถการและการรักษาหลากหลาย ทาง สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำต้องหาแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ดูว่าสิ่งใดจำเป็นไม่จำเป็น ประกอบการวางกฎเกณฑ์เบิกจ่าย


เรื่องนี้จึงเป็นข่าวขึ้นมา เพราะเริ่มมีการทำแนวปฏิบัติให้ชัดเจน เตรียมใช้เป็นวงกว้างนั่นเอง



การแปลงเพศ เป็นความต้องการหรือเป็นความจำเป็น


มีข้อสงสัยจากในโซเชียล ถึงความจำเป็นของหัตถการ


เราอาจเคยได้ยินว่า LGBTQ+ ไม่ใช่โรค ไม่ต้องการการรักษา หากแต่เป็นรสนิยม เป็นความหลากหลาย แต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ควรมีใครบังคับใคร ข้อความนี้ยังเป็นจริงเช่นนั้นค่ะ


แต่แล้วทำไม “การแปลงเพศ” จึงเป็นการการรักษาที่ สปสช. มองว่าจำเป็นล่ะ?


อันที่จริงเรื่อง “เพศ” มีหลากหลายแง่มุมมาก

ในทางการแพทย์ เราแบ่งเป็น 3 มุมด้วยกัน (อาจมีแยกย่อยลึกซึ้งกว่านี้ แต่บทความนี้จะเขียนถึงเท่านี้)

1.Biological Sex

ภาษาไทยอาจเรียกเพศกำเนิด แต่ที่จริงหมายถึงเพศตามหลักชีววิทยา 

2.Sexual Identity

เพศสภาพ บ้างก็ใช้ว่า gender หมายถึงสิ่งที่ “เรารู้สึกว่าตนเป็น” อาจเป็นชาย หญิง หรือ non-binary (ไม่แบ่งแยก) ก็เป็นได้

3.Sexual Orientation

เพศที่ตนสนใจ


จากจุดนี้เราอาจสังเกตได้ว่า เมื่อ Biological Sex ไม่ตรงกับ Sexual Identity ย่อมเกิดปัญหาตามมา ไม่ว่าจะทางกาย,ใจ, หรือสังคม

และนี่คือที่มาของข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ สำหรับ LGBTQ+ ที่ต้องการแปลงเพศนั่นเอง



ปัญหา Gender Dysphoria


LGBTQ+ ไม่ใช่โรคนะคะ ท่านใดบ้านไหนมีลูกหลาน มีเพื่อนฝูงเป็น LGBTQ+ แล้วยังคิดว่าต้องพาไปพบแพทย์เพื่อรักษา นั่นเป็นความเข้าใจผิดและล้าสมัย


หากแต่ LGBTQ+ อาจมีปัญหาสุขภาพใจด้านอื่นๆตามมาได้ และปัญหาใหญ่ที่พบได้ คือ Gender Dysphoria นั่นเองค่ะ


Gender Dysphoria เป็นภาวะที่กล่าวถึงความไม่สุขกายสบายใจ เมื่อ Sexual Identity ไม่ตรงกับ Biological Sex ของตน


ลองคิดภาพง่ายๆว่า แค่เราจากบ้านไปอยู่ที่แสนไกล กินนอนไม่คุ้น เจอคนคุยไม่ได้ คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก ปัญหา Gender Dysphoria ก็เช่นเดียวกันค่ะ


อันที่จริง Gender Dysphoria เป็นคำที่ใช้สำหรับภาวะหนึ่ง แต่ยังไม่ถือเป็นพยาธิสภาพ หรือพูดอย่างเข้าใจง่ายว่า ยังไม่ถือเป็นโรคค่ะ หากแต่ภาวะดังกล่าวนี้ อาจเป็นต้นทางนำไปสู่โรคทางใจอื่นๆได้ ไม่ว่าจะเป็น  MDD (Major Depressive Disorder) หรือแม้แต่นำไปสู่เหตุการณ์ร้ายๆ อย่างการทำร้ายตัวเองได้ในที่สุด


และเมื่อมองกลับมาแล้ว ก็เป็นความจริงอยู่ที่ Sexual Identity แม้ไม่ใช่โรคแต่หลายครั้งเราเลือกไม่ได้ ทุกอย่างเป็นไปเช่นนั้นเอง 


การแปลงเพศ จึงถือเป็นการรักษา เพื่อพาเขาหรือเธอ(They)กลับมา ยังร่างที่ควรจะเป็น

และแน่นอน ป้องกันภาวะ Gender Dysphoria และโรคอื่นๆที่อาจจะตามมาหลังภาวะนี้ค่ะ



ในสังคมของเรามีคนอยู่มากมาย และเพราะทุกคนแตกต่างหลากหลาย จึงทำให้โลกใบนี้สวยงามและน่าอยู่นะคะ


แม้ว่ามุมหนึ่ง การแปลงเพศ อาจดูเหมือนมาพร้อมรสนิยมส่วนตน ไม่ใช่โรคร้ายต้องแก้ไข แต่อีกมุมอย่าลืมว่า การต้องใช้ชีวิตในร่างกายที่ไม่ใช่ เป็นเรื่องที่ใครก็ไม่สามารถจินตนาการได้ และนั่นอาจนำพาจิตใจให้ดำดิ่งลงไปจนกลายเป็นโรคขึ้นมา


การแปลงเพศจึงถือเป็นวิธีรักษา และสมควรได้รับสิทธิ์ตามสมควร


ดู 46 ครั้ง
bottom of page