top of page
  • Apichaya Sukprasert

IPD : ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของ “ชุดข้อมูลออร์เดอร์ยา”

หากถามว่า “ตอนนี้คนไข้ได้ยาอะไรอยู่บ้าง” เมื่อสิบกว่าปีก่อน คำถามนี้จะเป็นคำถามที่ตอบยากและใช้เวลาพอสมควรเลยค่ะ เพราะต้องผ่านกระบวนการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการ ทบทวน คัดลอก อ่านทวน จัดทำอุปกรณ์ ฯลฯ ซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้กี่รอบ จึงจะตอบคำถามว่า “ตอนนี้คนไข้ได้ยาอะไรอยู่บ้าง” ได้อย่างครบถ้วน


ไม่กี่ปีผ่านไป ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด คำถามนี้กลับกลายเป็นคำถามที่ไม่ต้องเอ่ยปาก แต่คลิกไม่กี่ครั้งบนคอมพิวเตอร์ก็ได้คำตอบแล้ว! 


เรื่องราวเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร วันนี้เราจะมาย้อนดูประวัติศาสตร์ “การเดินทางของชุดข้อมูลออเดอร์ยา” กันค่ะ




ตำนวนการ์ดยาและ Kardex 


หลายสิบปีก่อน ถ้าราวด์วอร์ดอยู่แล้วอยากทวนว่าคนไข้คนนี้ได้ยาอะไรอยู่บ้าง หันถามพี่พยาบาล พี่เขาก็จะไปเปิด “Kardex” หรือดู “การ์ดยา” จึงจะมาตอบเราได้


สมัยนั้นแพทย์ออเดอร์ยาแล้ว ก็จะส่งใบออเดอร์ให้ห้องยาจัดให้ เมื่อจัดขึ้นมา พยาบาลมีหน้าที่ให้ยา แต่ผู้ป่วยมหาศาล แต่ละคนแต่ละมื้อก็แตกต่าง แล้วจะจัดการให้ไม่หลงลืมอย่างไร


ยุคนั้นทีมพยาบาลเขาจะลอกออเดอร์ลง Kardex (แฟ้มข้อมูลคนไข้ของฝั่งพยาบาล) ไว้ก่อนค่ะ จากนั้นเอาข้อมูลไปทำการ์ดยาเล็กๆ หลายสีหลากสไตล์ เพื่อช่วยจัดตารางกิจกรรมการให้ยา





จากภาพ จะเห็นได้ว่า หากต้องการทวนยา จะต้องทำ 3 จุด

1.ออเดอร์แพทย์

2.ยาที่ออกจากห้องยา 

3.กิจกรรมการให้ยาของพยาบาล


สังเกตได้ว่าในกระบวนการดังกล่าว เกิดการส่งต่อข้อมูลด้วยการคัดลอกหลายครั้ง มีจุดอ่อนหลายอย่าง เมื่อเข้าสู่ยุค HA เกิดการตรวจสอบความเสี่ยงข้อผิดพลาด วิธีการนี้จึงค่อยๆเสื่อมความนิยมไป



สู่ยุคสมัยของใบ MAR


ในยุคถัดมา เราหันมาใช้ “ใบMAR” หรือ Medication Administration Record แทนค่ะ


ใบMAR เป็นเอกสารรวมรายการยาที่ผู้ป่วยต้องได้ โดยมีตารางการให้ยา ตารางสำหรับเซ็นต์ชื่อเมื่อทำกิจกรรมให้ยา รวบในหน้าเดียวกันไว้ 


แรกเริ่มใบMAR ใช้การเขียนมือ คัดลอกออเดอร์แพทย์ ต่อเมื่อโรงพยาบาลใช้ระบบ HIS จัดการยาแล้ว จึงสามารถพิมพ์ออกมาได้ 



จากภาพจะเห็นว่าหากโรงพยาบาลใช้ระบบ HIS อย่างสมบูรณ์แล้ว ข้อมูลจะ Input เข้าระบบเพียงครั้งเดียว คือจุดที่แพทย์คีย์ยา จากนั้นทั้งเภสัชกรและพยาบาล ต่างรับออเดอร์จากข้อมูลส่วนกลาง สอบทานไปมา เพื่อให้ผู้ป่วยได้ยาที่ตรงกับออเดอร์แพทย์ในที่สุด


นั่นคือ หากต้องการทวนยา ไม่จำเป็นต้องไล่ 3 จุด เพียงทวนยาที่มีในระบบ ก็จะทราบยาที่ผู้ป่วยได้อยู่ทั้งหมดทันที



สู่ยุคสมัยของ Data Visualization


มาถึงจุดนี้ หลายท่านอาจจะร้องยี้ ผู้เขียนเขียนเรื่องที่ใครก็รู้อยู่แล้วไปทำไม จริงๆผู้เขียนจะชวนทุกท่านดูขั้นต่อไปของข้อมูลกันค่ะ


เดิมทีในระบบที่ทุกอย่างจัดการด้วยมือ การเดินทางของข้อมูล ในที่นี้คือออเดอร์แพทย์ จะไปตามการเดินทางของกระดาษออเดอร์ หรือสำเนาที่มีผู้คัดลอกออเดอร์ ส่งผลให้ข้อมูลเดินทางได้ช้า (เกิดการแย่งชาร์ต) ผิดพลาดได้ง่าย และไม่สามารถปรุงแต่งเป็นรูปร่างต่างๆได้โดยง่าย 


ต่อเมื่อเข้าสู่ยุคใหม่ ชุดข้อมูลอยู่ในระบบ HIS ตัดปัญหาคัดลอกผิดพลาด สามารถเข้าดูได้จากทุกที่ทุกเวลา(แต่ต้องมีรหัส) และยังอาจสามารถปรุงแต่งข้อมูล พลิกแพลงเป็นรูปร่างต่างๆได้ง่าย


เราจะเห็นทั้งรายชื่อยา รายละเอียด เวลาที่ให้ยาแต่ละตัว ไล่เรียงไปแต่ละวัน 

สังเกตว่า data visualization เช่นนี้ ยังชวนให้เราฉุกคิดถึงยาที่ได้ในเวลาใกล้เคียงกัน (มองลงไปแล้วเกือบซ้อนกัน) อาการที่เกิด ณ จุดเวลานั้นๆ (จากการซักประวัติ) รวมถึงสัญญาณชีพที่แปรผันในเวลาไล่เลี่ย (เรียกดูกราฟสัญญาณชีพได้)


ในฐานะ clinician แล้ว นี่เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมากค่ะ



ในยุคปัจจุบันที่ข้อมูลทั้งหมดถูกบริหารจัดการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ได้เกิดแนวคิดเรื่อง data visualization หรือพูดอย่างเข้าใจง่าย การนำเสนอข้อมูลด้วยภาพ กราฟ หรือวิธีการนำเสนอต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับข้อมูล เข้าใจเรื่องราวได้ง่าย วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปใช้ต่อได้ลึกซึ้งขึ้น


จาก Kardex และการ์ดยา สู่ใบMAR และสู่ระบบ HIS พร้อม data visualization ในที่สุด การเดินทางของชุดข้อมูลออเดอร์แพทย์นั้น เรียกว่ามาไกลและพัฒนาขึ้นมากจริงๆค่ะ 


อันที่จริงผู้เขียนเคยพูดถึง Data Visualization ไปครั้งหนึ่งแล้ว แนวคิดนี้นี้แม้ยังใหม่สำหรับวงการแพทย์ แต่แท้จริงแพร่หลายโดยทั่วไป เชื่อแน่ว่าในอนาคตอันใกล้ เราคงได้เห็นชุดข้อมูลอื่นๆ ที่จะถูกปรับรูปแบบการนำเสนอให้เข้าใจง่าย ฉุกคิดได้ ไอเดียมา มากขึ้นเรื่อยๆอย่างแน่นอน


ดู 233 ครั้ง
bottom of page