top of page
PROCESS IMPROVEMENT

ลดเวลาเข้าหอผู้ป่วย

Patient Flow ( WARD)

โรงพยาบาลกรณีศึกษาเป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ต้องการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางการแก้ไขกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินใช้เวลานานในการรอเข้าหอผู้ป่วย

กระบวนการรับบริการของผู้ป่วย เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการคัดกรอง เวชระเบียน พบแพทย์ฉุกเฉิน การตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบแพทย์เฉพาะทาง รอเข้าหอผู้ป่วย กรณีโรงพยาบาลรับรักษาผู้ป่วยรายนั้นไม่ได้ ก็จะส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่น จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ขั้นตอนที่ผู้ป่วยต้องใช้เวลารอนานกว่าขั้นตอนอื่นอย่างเห็นได้ชัดคือขั้นตอนการรอเข้าหอผู้ป่วย โดยใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานที่โรงพยาบาลกำหนดไว้ เมื่อวิเคราะห์ในเชิงลึก พบว่า ผู้ป่วยที่จะต้องเข้าหอผู้ป่วยอายุรกรรมมีระยะเวลารอเข้าหอผู้ป่วยนานที่สุด คือ ประมาณ 6 ชั่วโมง 30 นาที อีกทั้งผู้ป่วยถึงร้อยละ 70 เป็นผู้ป่วยอายุกรรม ดังนั้น เราจึงมุ่งศึกษาวิเคราะห์ที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมเป็นหลัก

“จากการวิเคราะห์ข้อมูลจริง พบว่า ผู้ป่วยที่จะต้องเข้าหอผู้ป่วยอายุรกรรมมีระยะเวลารอนานที่สุด”

หอผู้ป่วยอายุรกรรมของโรงพยาบาล เป็นหอผู้ป่วยขนาด 30 เตียง มีอัตราการครองเตียงสูงที่สุดในบรรดาหอผู้ป่วยทั้งหมด คือ ประมาณร้อยละ 99 ภายในหอผู้ป่วย จะมีผู้ป่วยที่มาจากแผนกฉุกเฉิน และผู้ป่วยที่นัดเข้ามารับบริการจากแผนกผู้ป่วยนอก การกำหนดสัดส่วนของผู้ป่วยจากทั้งสองแหล่งจะมีผลต่อการไหลของผู้ป่วยจากทั้งสองแหล่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสม อาจทำให้สถานการณ์การไหลของผู้ป่วยจากแผนกฉุกเฉินสู่หอผู้ป่วยดีขึ้น ในขณะที่สถานการณ์การไหลของผู้ป่วยจากแผนกผู้ป่วยนอกสู่หอผู้ป่วยอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ นอกจากนี้ จากสถิติพบว่า ปัจจุบัน อัตราการยกเลิกนัดผู้ป่วยนอกเพื่อรับเข้าสู่หอผู้ป่วยมีอัตราที่ต่ำมาก คือ ประมาณร้อยละ 1.8 ของผู้ป่วยนอกที่นัดเข้าหอผู้ป่วยทั้งหมด ดังนั้น กติกาการรับผู้ป่วยเข้าหอผู้ป่วยจึงอาจเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา กติกาการรับผู้ป่วยเข้าสู่หอผู้ป่วยอาจมีผลต่อการไหลของผู้ป่วยจากทั้งสองแหล่งเข้าสู่หอผู้ป่วย เรามีความสนใจด้วยว่า หากมีการตกลงกันระหว่างแผนกถึงเกณฑ์การรับผู้ป่วยรวมของโรงพยาบาลใหม่ จะมีผลต่อการไหลของผู้ป่วยจากทั้งสองแหล่งอย่างไร

 “ดังนั้น กติกาการรับผู้ป่วยเข้าหอผู้ป่วยจึงอาจเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา เพราะมีผลต่อการไหลเข้าสู่หอผู้ป่วย”

จากการวิเคราะห์ผลจากแบบจำลองสถานการณ์ (simulation model) พบว่า สัดส่วนของผู้ป่วยนอกต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน คือ 8:22 เตียงนั้น มีความเหมาะสมดีแล้ว เนื่องจากหากมีการปรับอัตราส่วนนี้ให้เอื้อต่อแผนกฉุกเฉินมากยิ่งขึ้น จะกระทบการไหลของผู้ป่วยจากแผนกผู้ป่วยนอกอย่างมาก และเมื่อทดลองปรับอัตราการยกเลิกนัดผู้ป่วยนอกที่จะเข้าหอผู้ป่วยให้สูงขึ้น พบว่า จะกระทบต่อการไหลของผู้ป่วยนอกเข้าสู่หอผู้ป่วยเป็นอย่างมากเช่นกัน

 “สัดส่วนของผู้ป่วยนอกต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน คือ 8:22 เตียงนั้น มีความเหมาะสมดีแล้ว”

อย่างไรก็ตาม เราได้ลองวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อระยะเวลารอเข้าหอผู้ป่วย ของทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยฉุกเฉิน หากมีการปรับปรุงการให้บริการในหอผู้ป่วยให้มีระยะเวลาครองเตียง (length of stay) ลดลง พบว่า หากหอผู้ป่วยสามารถลดระยะเวลาครองเตียงเพียงร้อยละ 10 จะส่งผลให้ผู้ป่วยฉุกเฉินรุนแรง (สีเหลือง) มีระยะเวลารอเข้าหอผู้ป่วยลดลงจาก 6 ชั่วโมง 10 นาที เป็น 5 ชั่วโมง 20 นาที ในขณะที่ระยะเวลารอเข้าหอผู้ป่วยของผู้ป่วยนอกลดลงจากประมาณ 24 วัน เป็น 21 วัน การลดระยะเวลาครองเตียงโดยไม่เกี่ยวข้องกับการรักษานั้นมีแนวทางการปรับปรุงหลายวิธี ซึ่ง

 “หากหอผู้ป่วยสามารถลดระยะเวลาครองเตียงเพียงร้อยละ 10 จะส่งผลให้ผู้ป่วยฉุกเฉินรุนแรง (ระดับสีเหลือง) มีระยะเวลารอเข้าหอผู้ป่วยลดลงถึงร้อยละ 13”

การเพิ่มเตียงในหอผู้ป่วยอายุรกรรมนั้น แน่นอนว่าสามารถลดเวลารอของผู้ป่วยฉุกเฉินได้ และโรงพยาบาลเองก็มีแผนที่จะขยายความสามารถการให้บริการผู้ป่วยอยู่เช่นกัน คำถามคือ หากจะเพิ่มจำนวนเตียงในหอผู้ป่วย ควรเพิ่มกี่เตียง และควรมีการจัดสรรเตียงอย่างไร ผลการวิเคราะห์ผ่านแบบจำลองสถานการณ์พบว่า หากเพิ่มจำนวนเตียงให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน จาก 22 เตียงในปัจจุบัน เป็น 38 เตียง และเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยนัดจาก 8 เตียงในปัจจุบัน เป็น 16 เตียง จะทำให้ผู้ป่วยทั้ง 2 แผนก สามารถเข้าใช้เตียงได้ทันทีที่ต้องการ โดยในอนาคตโรงพยาบาลต้องการจะเปิดหอผู้ป่วยอายุรกรรมอีก 1 หอ จำนวน 30 เตียง ซึ่งจะเห็นได้ว่า จำนวนเตียงที่เพิ่มขึ้นนั้น เท่ากับ 54 เตียง ซึ่งยังคงน้อยกว่าอัตราการให้บริการเตียงของโรงพยาบาล การเปิดหอผู้ป่วยใหม่นั้นโรงพยาบาลจึงสามารถเปิดเตียงเพียง 24 เตียง ก็สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอแล้ว ทำให้ประหยัดต้นทุนของโรงพยาบาลเนื่องจากไม่เพิ่มทรัพยากรเกินกว่าความต้องการจริง หรือในกรณีที่ต้องการเปิดเพิ่มอีก 30 เตียง ก็สามารถทำได้โดยโรงพยาบาลสามารถเพิ่มอัตราการให้บริการผู้ป่วยนัดได้

 “ทำให้ประหยัดต้นทุนของโรงพยาบาลเนื่องจากไม่เพิ่มทรัพยากรเกินกว่าความต้องการจริง”

bottom of page