top of page
  • Apichaya Sukprasert

คณะแพทย์จุฬาเปลี่ยนระบบตัดเกรด: ความเปลี่ยนแปลงกับโอกาสของสาธารณสุขไทย


เมื่อเร็วๆนี้วงการแพทย์มีข่าวใหญ่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศเลิกใช้การตัดเกรดแบบเก่า ที่ตัดออกมาเป็นหลายระดับ (Tiered Grading) แล้วหันมาใช้ระบบผ่าน/ไม่ผ่าน(Pass/Fail Grading)แทน 


หลายฝ่ายมองว่าเป็นข้อดี เพราะการตัดเกรดทำให้เกิดการแข่งขัน ไม่ส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนร่วมกัน ซ้ำให้ผู้เรียนเกิดความเครียดถึงขั้นทำร้ายตัวเองได้ แต่อีกหลายฝ่ายก็ยังกังวลถึงการวัดผลว่าจะเชื่อถือได้หรือไม่ กับการผลิตแพทย์วิชาชีพที่สัมพันธ์กับความเป็นความตายของผู้คน


ทั้งสองฝ่ายต่างมีเหตุผลที่น่าสนใจ บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนมาดูผลที่จะเกิดขึ้นกับวงการสาธารณสุขไทยจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้




เกิดอะไรกับ Tiered Grading


ทำไมการเรียนแพทย์ถึงใช้เกรดหลายระดับ?


ข้อนี้อาจย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยเก่าก่อน การเรียนแพทย์ในยุคโบราณมีลักษณะ Apprentice-based Learning หรือนึกภาพง่ายๆ เหมือนหนังกำลังภายในที่ศิษย์ต้องตามรับใช้พร้อมเรียนรู้จากอาจารย์ การเรียนลักษณะนี้อาจเหมาะสมในยุคหนึ่ง แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป การเรียนแพทย์ผันไปสู่ University-based Learning ซึ่งเป็นระบบที่เราคุ้นเคยในที่สุด


แต่ ณ ขณะนั้น มหาวิทยาลัยใช้การประเมินแบบ Tiered Grading เป็นหลัก แถมดั้งเดิมแพทย์เรียนอย่างไรก็ขึ้นกับอาจารย์ ทำให้คุณภาพแตกต่างกันมาก การตัดเกรดแบบแบ่งระดับจึงอาจเหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด


อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมานานเป็นชั่วอายุคน ทั้งมีงานวิจัยออกมาเป็นระยะ ถึงข้อดีข้อเสียของระบบประเมินผล นำไปสู่การพูดคุยกันในหลายระดับ


แต่ก่อนจะไปส่วนถัดไป ลองย้อนมองก่อนค่ะว่า เราต้องการอะไรจากการประเมินผล

1.สามารถประเมินผู้เรียนได้

2.สามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองได้

3.ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้เรียน เช่น ความเครียด การแข่งขันเกินควร ฯลฯ


จากศึกษาในยุคหลัง พบว่าระบบวัดผลแบบ Tiered Grading เป็นส่วนสำคัญที่สุด ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความเครียด และสร้างบรรยากาศแข่งขันกดดัน ซึ่งส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ร่วมกันในระยะยาว


ที่น่าสนใจคือ Tiered Grading เป็นระบบที่ใช้กันมายาวนาน โดยมิได้มีงานวิจัยที่ชัดเจนรองรับว่าสามารถประเมินผู้เรียนได้แน่ชัด หรือช่วยกระตุ้นให้อยากเรียนรู้เพิ่มขึ้นหรือไม่ (อาจเพราะเป็นระบบแรกเริ่มด้วยค่ะ) อีกทั้งงานวิจัยระยะหลัง กลับพบว่า Pass/Fail Grading ก็ประเมินผู้เรียนได้ดีเช่นกัน


นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านของหลายๆโรงเรียนแพทย์ทั่วโลก สู่ยุคของ Pass/Fail Grading


—————


Pass/Fail Grading เป็นคำตอบจริงหรือไม่


ทว่าเมื่อลงดูในรายละเอียด แม้โรงเรียนแพทย์จำนวนไม่น้อยในสหรัฐอเมริกา จะหันมาใช้ Pass/Fail Grading แล้ว แต่มักจำกัดเฉพาะชั้นปรีคลินิคเท่านั้น สำหรับชั้นปีสูงอย่างชั้นคลินิคนั้น ส่วนมากยังใช้ระบบตัดเกรดแบบเก่า


ข้อนี้คล้ายกับไทย อาจารย์แพทย์และผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ยังคงกังวลกับการประเมินผล ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพแห่งวิชาชีพ นอกจากนี้ เมื่อแต่ละโรงเรียนแพทย์วัดผลแตกต่างกัน หากแพทย์เหล่านั้นต้องการเรียนต่อเฉพาะทาง โรงเรียนแพทย์ที่ให้เพียงผ่าน/ไม่ผ่าน อาจเสียเปรียบเพื่อนในรุ่นเดียวกันจากโรงเรียนแพทย์อื่นก็เป็นได้ ทำให้การปรับปรุงระบบการวัดผลยังคงค้างคาอยู่


อย่างไรก็ดี เริ่มมีผู้ตั้งคำถามที่แหวกแนวออกไป และน่าสนใจอย่างมากค่ะ


ระบบการวัดผล ชนิดที่ตัดออกมาเป็นเกรด หรือออกมาเป็นผ่าน/ไม่ผ่านก็ดี เหล่านี้ส่งผลต่อ “การประเมินที่แท้จริง” หรือไม่ หรือแท้จริงแล้วสิ่งที่ควรปรับปรุงใหม่ อาจไม่ใช่ “การวัดผลว่าได้มากน้อยแค่ไหน” แต่เป็น “วิธีการประเมินว่าจะประเมินอย่างไร” กันแน่


ข้อนี้ต้องย้อนกลับมาที่การเรียนการสอนแพทย์ก่อนค่ะ


ชั้นคลินิคเป็นชั้นปีที่แพทย์จะต้องเรียนรู้การซักประวัติตรวจร่างกาย, การให้วินิจฉัย, การสั่งการรักษา, และการทำหัตถการด้วยตนเองภายใต้การควบคุมของอาจารย์และรุ่นพี่ พูดง่ายๆเป็นการสอนข้างเตียงคนไข้ เรียนแบบจับมือทำ แต่เพราะผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน เนื้อหาที่เรียน ประสบการณ์ที่ได้รับ ไปจนโจทย์ที่พบนั้น ผันแปรแตกต่างกันไป


การเรียนการสอนในลักษณะนี้ เมื่อพยายามประเมินผลชนิดที่ “จับต้องได้” เช่น ตั้งเกณฑ์ ให้คะแนนเป็นตัวเลข ฯลฯ อาจนำไปสู่ความไม่เท่าเทียม และร้ายที่สุด ไม่อาจสะท้อนผลการศึกษา หรือความสามารถในการปฏิบัติงานเมื่อจบเป็นแพทย์แล้วจริงๆได้


ซึ่งนี่เป็นข้อสังเกตใหญ่ ที่แพทย์ทุกรุ่นอายุเห็นตรงกัน


—————


Subjectivity and Narrative-rich Assessment


จากที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นได้ว่า เวชปฎิบัติทั้งในการเรียนและชีวิตจริง อาจมิได้มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว ผู้ป่วยแต่ละรายการเจ็บป่วยแต่ละครั้งล้วนมีบริบทที่แตกต่างกันไป การประเมินผลแพทย์โดยตั้งกฎเกณฑ์ตายตัว วัดระดับออกเป็นตัวเลข โดยมีคำตอบที่ถูกต้องเฉลยไว้ อาจไม่ใช่การประเมินผลที่เหมาะสมอีกแล้ว


ระยะหลังจึงเริ่มมีการประเมินผลชนิดที่โอบรับความแตกต่าง เน้นวิเคราะห์วิจารณ์ บนบริบทของผู้ป่วยเป็นรายๆไป การสอบข้างเตียงที่อาจารย์เคยต้องให้คะแนนตามหัวข้อที่กำหนดไว้ ก็เปลี่ยนเป็นการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ 


การประเมินผลเช่นนี้ อาจารย์ต้องทุ่มเทมาก เพราะไม่เพียงให้คะแนนยังต้องไกด์ให้ผู้เรียนเห็นชัด ว่าตนนั้นทำได้ดีหรือต้องพัฒนาทักษะใด แต่ในระยะยาวก็น่าสนใจ เพราะดูเหมือนวิธีการนี้จะตรงกับจุดหมายแท้จริงของการประเมินผล นั่นคือผู้เรียนได้พัฒนาตนอย่างเหมาะสมนั่นเอง 


และอย่าลืมว่า ปัญหาใหญ่อันหนึ่งของการประเมินผลการเรียนแพทย์ขณะนี้ คือการที่ผลสอบไม่สะท้อนความสามารถในการปฏิบัติงานจริงเมื่อจบออกไป การเปลี่ยนวิธีประเมินดังกล่าวไว้ อาจเป็นมิติใหม่ของวงการก็เป็นได้


อย่างไรก็ดี การประเมินผลแบบนี้ ถ้าอาจารย์ปล่อยผ่านง่ายๆ ก็จะไม่ได้อะไรเลยเช่นกันค่ะ จึงมีคำเตือนว่า หากใช้วิธีนี้อาจารย์จะต้อง “พร้อมที่จะจับตก” ผู้สอบทุกเวลาอย่างตรงไปตรงมาเช่นกัน นับว่าไม่ง่ายเลยทีเดียว


ไม่แน่ว่ายุคเข้าซ้ายจับตกอาจกลับมาก็เป็นได้


Reference

Smith Jr JF, Piemonte NM. The problematic persistence of tiered grading in medical school. Teaching and Learning in Medicine. 2023 Aug 8;35(4):467-76.


Ten Cate O, Regehr G. The power of subjectivity in the assessment of medical trainees. Academic Medicine. 2019 Mar 1;94(3):333-7.


ดู 53 ครั้ง
bottom of page