—ในยุค Digital Transformation แบบนี้ หลายโรงพยาบาลคงปรับมาใช้ HIS และกระทั่งเป็น paperless อย่างสมบูรณ์
สำหรับห้องฉุกเฉิน จุดน่าสนใจอย่างหนึ่ง คงเป็นหน้าจอแสดงรายชื่อผู้ป่วยในมือ ที่ HIS ยุคหลัง ต่างปรับแต่งให้เข้ากับห้องฉุกเฉินมากขึ้น
ด้านล่างคือภาพ Whiteboard ของ CortexShift สังเกตว่านอกจากข้อมูลพื้นฐาน เช่น ชื่อ HN แล้ว ยังมีระดับความเร่งด่วน(Triage level), อาการนำ(Chief Complaint) และระยะเวลาในห้องฉุกเฉิน(LOS; Lenth of Stay) แสดงอยู่ด้วย
(ภาพ 1 : whiteboard ของ CortexShift)
สำหรับคุณหมอเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ไปจนถึงพี่พยาบาลรุ่นเก๋า ที่เคยดูแลระบบห้องฉุกเฉินมาตั้งแต่ยุคเก่า ย่อมจะทราบดีว่า การมาถึงของหน้าจอแสดงผลเช่นนี้ ปรับโฉมการทำงานของห้องฉุกเฉินไปมากเพียงใด
วันนี้เราจะมาย้อนรอย “การเข้าถึงการรักษา” จากหน้าห้องฉุกเฉิน ซึ่งถือเป็นหัวข้อสำคัญที่สุดอันหนึ่งของระบบโรงพยาบาลกันค่ะ
—
ยุคสมัย “Triage by รถนอน” สู่ระบบ “MOPH ED Triage”
ในอดีตการคัดแยกผู้ป่วยว่าใครด่วนกว่าใคร แพทย์ที่มักมีอยู่แค่ 1-2 คนควรจะตรวจใครก่อน ใช้ทั้งประสบการณ์ สัญญาณชีพ ไปถึงความเก๋าเกมส์ของพยาบาลคัดกรอง เป็นงานที่นับว่าไม่ง่ายเลยทีเดียว
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ได้ตรวจก่อน คือลักษณะยืนเดินนั่งนอนของผู้ป่วย จนเรียกอย่างล้อๆกันในภายหลังว่า “Triage by รถนอน” นั่นเองค่ะ
และแน่นอนว่า ระบบนี้มีความผิดพลาดสูง จึงได้มีความพยายามนำระบบ Triage ที่มีหลักฐานงานวิจัยรองรับมาใช้ และท้ายสุดกระทรวงสาธารณสุขก็รับเอาระบบ ESI Triage มาปรับเป็น MOPH ED Triage เป็นระบบคัดแยกกลางของประเทศในที่สุด
อย่างไรก็ตาม เราพบปัญหาไส้ในของ Triage ในเวลาต่อมา
—
การ “จัดคิว” ในระบบ Triage
MOPH ED Triage ให้เราแยกผู้ป่วยเป็น 5 กลุ่ม ไล่เรียงตรวจตามระดับความเร่งด่วน
อย่างไรก็ดี เมื่อลงรายละเอียดแล้ว มาตรฐาน ECS ที่ออกโดยกระทรวงฯนั้น กำหนดให้เราต้องตรวจผู้ป่วยระดับ 1-2 ในหลักไม่กี่นาที ขณะที่ระดับต่ำลงมาให้เวลาพอสมควรลดหลั่นกันไป และเมื่อย้อนดูระบบคัดแยก MOPH ดังกล่าว (หรือแม้แต่ย้อนไปดูต้นฉบับอย่าง ESI) จะพบว่าผู้ป่วยระดับ 1-2 นั้น เร่งด่วนกว่าระดับ 3-5 อย่างเห็นได้ชัด ทำให้โดยทั่วไปแล้ว ขั้นตอนการเรียกตรวจระดับ 1-2 จะเป็นการเข็นผู้ป่วย(ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นรถนอน) เข้ามาใน resuscitation zone ของ ER นั้นๆในทันที
การเรียกตรวจระดับ 1-2 จึงถูกเร่งรัดให้ตรวจทันทีโดยอัตโนมัติ
ในขณะที่ระดับ 3-5 เป็นลักษณะรอว่างจึงเรียกตรวจ
จึงเกิดปัญหาไส้ในตามมา
เรารู้ว่าถ้าว่างจากระดับ 1-2 แล้ว ต้องเรียกระดับ 3 เข้าตรวจ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีระดับ 3 รอตรวจ และรออยู่นานเท่าใดแล้ว
นอกจากนี้ ท่านที่เคยอ่าน ESI Triage ตัวเต็ม จะทราบว่าความเร่งด่วนของระดับ 3-5 นั้นต่างกันไม่มาก บางกรณีการเรียกระดับ 4 ที่รอนานหลายชั่วโมงจนเสี่ยงอาการทรุด มาตรวจก่อนระดับ 3 ที่เพิ่งมาอาจเหมาะสมกว่า (expert opinion)
จะเห็นได้ว่า การเรียกระดับ 3-5 เข้าตรวจ ไม่ใช่เพียง “เมื่อว่างจากระดับ 1-2” แล้วเท่านั้น แต่ยังต้องการปัจจัยกระตุ้นเตือนบางอย่าง รวมไปถึงข้อมูล เช่น อาการสำคัญ หรือระยะเวลารอคอย เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเรียก
นั่นนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยหน้างานที่หลากหลายมากค่ะ
ที่นิยมกันมาก เช่น
-ตั้งกระดานรายนาม และจำนวนรวมผู้ป่วย ให้เห็นชัดว่ายังมีรอตรวจมากน้อยเท่าใด
-เอาเอกสารผู้ป่วยหนีบใส่ชาร์ต แล้วเอาชาร์ตวางไว้ในกล่องที่(แพทย์)เห็นได้ชัด อาจแบ่งสีชาร์ตตามระดับผู้ป่วย, ติดกระดิ่งก้นกล่องให้ทราบว่าเคสมา, กำหนดเวลาตรวจกล่อง ฯลฯ
หลากวิธีหลายแนวคิดจะสร้างสรรค์ หลายอย่างกลายเป็นผลิตภัณฑ์ประจำอีอาร์ไป
ฟังดูเหมือนกิจกรรมง่ายๆ แต่ทั้งหมดนี้คือความพยายามแก้ปัญหา “การเข้าถึงการรักษา” ซึ่งถือเป็นต้นธารของกระบวนการตรวจรักษาทั้งหมดนั่นเองค่ะ
อย่างไรก็ดี กระบวนการดังกล่าวนี้ ยังพบปัญหา Human Error เป็นพักๆ
ยุ่งจนลืมอัพเดทจำนวนผู้ป่วย
หยิบมาจะเรียกตรวจแต่มีเคสหนักจึงเผลอทำหาย
ฯลฯ
เหตุการณ์ดังว่า นำไปสู่ความเสี่ยงตั้งแต่ระดับผู้ป่วยรอนานเพราะคิวหายจนเกิดปากเสียง ไปจนถึง arrest หน้า ER แบบไม่มีใครตั้งตัว
ระบบการเรียกตรวจที่ดูเหมือนเรียบง่าย แท้จริงคือจุดยุทธศาสตร์ของการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยฉุกเฉินนั่นเอง
—
ย้อนกลับมาที่ Whiteboard (หน้าจอแสดงรายนามผู้ป่วยของ CortexShift) ของเราในตอนต้น
เมื่อปรับมาใช้ HIS ทั้งหมด เพียงผู้ป่วยเปิดบัตรลงทะเบียน ย่อมมีรายชื่อเข้าใน Whiteboard ในทันที จากนั้นข้อมูลชุดนี้ จะไหลลื่นผ่านขั้นตอนการทำงานทั้งหมดของห้องฉุกเฉิน โดยไม่สามารถหล่นหายไปได้
ขณะที่ข้อมูลซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจเรียกตรวจ ทั้งระดับความเร่งด่วน(Triage level), อาการนำ(Chief Complaint) และระยะเวลาในห้องฉุกเฉิน(LOS; Lenth of Stay) ถูกแสดงผลในหน้าจอเดียวกันทุกราย ทั้งยังเป็นหน้าจอที่เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องใช้ จึงคล้ายถูกกระตุ้นเตือนตลอดเวลา
(ภาพ 2 : ขั้นตอนการทำงานและความเสี่ยง ระหว่างระบบดั้งเดิมและระบบ HIS ในที่นี้คือ CortexShift)
จากภาพ จะเห็นได้ว่าการใช้ระบบ HIS ทำการ by pass จุดที่จะเกิด Human Error ส่วนใหญ่ไป และช่วยเน้น “ปัจจัยกระตุ้น” และ “ปัจจัยสำคัญ” ในการตัดสินใจเรียกตรวจ
อันที่จริง หน้าจอแสดงรายนามผู้ป่วยดังกล่าวนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ซะทีเดียว HIS ในระยะเริ่มต้นก็มี เพียงแต่อาจไม่เหมาะกับการใช้งานจริงสักเท่าไหร่ เมื่อได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้ออกมาเป็นหน้าตาแบบ HIS รุ่นใหม่ๆ กลับกลายเป็นอาวุธที่แม้จะดูเรียบง่าย แต่ทรงพลังต่อระบบการเข้าถึงการรักษา
หลายโรงพยาบาลปลดกระดาน เอากล่องทิ้ง ยกเลิกหน้าที่ที่เกี่ยวกับกิจกรรมในระบบเรียกตรวจไป เมื่อภาระงานลดลง ในขณะที่ระยะเวลารอตรวจและความเสี่ยงจากกระบวนการรอตรวจลดลง ประสิทธิภาพการทำงานย่อมสูงขึ้น ย่อมยังผลให้การตรวจรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งระบบดีขึ้นไปอีกระดับอย่างแน่นอนค่ะ
และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ที่ digital transformation ช่วยให้การทำงานของเรานั้นง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง ก็หวังว่าทุกท่านจะทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้นนะคะ
Comments