top of page
Apichaya Sukprasert

Review โปรแกรมจัดเวร ฉบับแพทย์ลองใช้

ไม่รู้คนอื่นคิดอย่างไร แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว "การจัดเวร" ถือเป็นกิจกรรมที่น่าเบื่อ กวนใจ แล้วยังใช้สมองเยอะมากเกินไปค่ะ!


เมื่อเร็วๆนี้ ผู้เขียนตัดสินใจใช้เงินแก้ปัญหา ลองใช้โปรแกรมจัดเวรดูบ้าง ก็พบว่ามี "ข้อสังเกต" ที่น่าสนใจบางประการ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยให้ผู้อ่าน ทั้งแพทย์ พยาบาล หรือแม้แต่สาขาอื่นๆ ใช้ประกอบการตัดสินใจในการซื้อ ว่าจะช่วยผ่อนแรงบุคลากรได้อย่างไร และมีจุดที่น่าพิจารณาตรงไหนในการเลือกซื้อมาใช้งานนะคะ



โปรแกรมจัดเวรทำงานอย่างไร ฉบับมือใหม่ลองเล่น


โปรแกรมจัดเวรของทาง HLAB ไม่ใช่โปรแกรมสำเร็จรูป ที่แค่จัดๆเรียงๆแล้วให้ผู้ใช้นำไปปรับหรือคิดต่อ แต่จะปรับให้เข้ากับลักษณะของเวรวงนั้นๆแต่แรก พอโปรแกรมจัดเสร็จก็คือเสร็จเลยค่ะ 

หลังอธิบายลักษณะเวร และส่งรายชื่อ pool เวรไปแล้ว เราก็เริ่มกระบวนการได้


  1. สร้างตารางเวร

  • เราสามารถกำหนดวันที่ของตารางเวรเองได้ เหมาะมากกับการจัดเวร rotation ที่ไม่ตรงเดือน

  • ในวันหนึ่งๆ เราสามารถระบุระยะเวลาเวร เช่น 8 ชั่วโมง 12 ชั่วโมง และสามารถจะมีกี่เวร กี่คนก็ได้ นั่นทำให้สามารถจัดเวรที่อัตรากำลังแตกต่างได้

  • สามารถเชื่อมกับวันหยุดราชการของเดือนนั้นๆได้ อย่างไรก็ตาม บางครั้งโรงพยาบาลหยุดต่างจากชาวบ้าน กรณีนี้จัดการตัวเองค่ะ


2. เปิดให้ลง condition

  • เจ้าหน้าที่ในรายชื่อสามารถ log in เข้ามาขอ condition ที่ต้องการหยุดหรือต้องการลงเวรได้ 

  • น่าสนใจมากว่า ระบบนับวันหยุดให้ แถมยังนับให้ด้วยว่า หยุดสำเร็จตามที่ขอไปกี่วัน เหมาะเป็นข้อมูลให้หัวหน้าพิจารณาหยุด/เลื่อนขั้นในอนาคต จากเดิมที่ลืมๆไปบ้าง ตอนนี้ลืมไม่ได้แล้วค่ะ


3. จัดตารางเวร

  • กดจัดตารางเวร เป็นอันเสร็จ


อย่างไรก็ตาม แม้ขั้นตอนนี้จะดูง่าย แต่ต้องขยายความว่า ก่อนเริ่มใช้งานทาง HLAB จะคุยก่อนว่า ตารางเวรของเรามีข้อกำหนดหรือข้อจำกัดอะไรบ้าง กรณีของผู้เขียน มีการกำหนดว่า เวรเช้าที่ตรงกับ conference จะต้องไม่อยู่เวรเช้าที่ตรงกับ MM, คนที่อยู่เวรบ่ายพฤหัสบดี ต้องไม่อยู่เวรเช้าวันเสาร์ ฯลฯ มีแต่ข้อกำหนดแปลกๆ ทาง HLAB ก็ขอไปเขียนโค้ดก่อนเริ่มใช้งาน


นอกจากนี้ เราสามารถเลือก mode จัดลำดับความสำคัญได้ด้วย เช่น เลือกให้ความสำคัญกับการกระจายเวร มากกว่าการขอเวร เป็นต้น



ความแตกต่างระหว่างการจัดตารางเวรพยาบาลและแพทย์

เนื่องจากโปรแกรมจัดเวรส่วนใหญ่ มีพื้นฐานจากตารางเวรพยาบาล เมื่อมาลองใช้กับแพทย์ จึงเห็นความแตกต่างที่น่าสนใจ


การจัดเวรพยาบาล "ยึดตามหน่วยงานเป็นหลัก" กล่าวคือ พยาบาลขึ้นกับหน่วยงานใด ก็ขึ้นเวรกับหน่วยงานนั้นๆ อาจมีรับเวรต่างแผนกบ้าง แต่ก็ถือเป็นเรื่องเฉพาะครั้งไป


นั่นทำให้เวรพยาบาลวงหนึ่งๆ คู่กับ pool เจ้าหน้าที่ที่แน่นอนตายตัว


อย่างไรก็ดี ความยากในการจัดเวร เกิดจากมีหลายตำแหน่งในเวรเดียวกัน และแม้จะใช้เจ้าหน้าที่ pool เดียวกัน แต่มักมีข้อกำหนดบางประการครอบอยู่ เช่น อินชาร์จจำต้องมีอายุงานมากกว่า 5 ปี ทำให้ใน pool เจ้าหน้าที่เดียวกันนี้ มีเจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ขึ้นเวรได้ ฯลฯ


ความยากจึงอยู่ที่การจัดเรียงให้ได้ตามข้อกำหนดทั้งฝั่งเจ้าหน้าที่และฝั่งโรงพยาบาล



การจัดเวรแพทย์กลับต่างออกไป "ยึดตาม competency เป็นหลัก" กล่าวคือ แพทย์อาจอยู่เวรข้ามหอผู้ป่วย ข้ามแผนก หรือมีเวรหลายแบบที่ต้องไปขึ้น แต่จะไม่ข้าม competency กัน


เช่น intern อายุรกรรม อาจมาอยู่เวร ER และ OPD GP นั่นทำให้การจัดเวรต้องคำนึงถึงเวรจากหลายวงเวร ทั้งแต่ละเวรก็มีรูปแบบและระยะเวลาแตกต่างกันไป แต่ intern อายุรกรรม จะไม่ข้ามไปขึ้นเวรห้องส่องกล้องของ staff med แน่นอน


อย่างไรก็ดี หากเจาะเป็นจุดๆ เป็นตำแหน่งๆไป จัดเวรแพทย์ไม่ยากเท่าพยาบาล เวร ER เวรหนึ่ง อาจใช้แพทย์แค่ 1-2 คนเท่านั้น แถมมักเป็นคนละ competency กัน การจัดเวรสับเปลี่ยนในวงเวรเดียวกันจึงไม่ยากแต่อย่างใด


ความยากกลับอยู่ที่การจัดเวรให้ใช้ได้จริง แบบเรียงข้ามวงเวรครอบทั้งโรงพยาบาล


จะเห็นได้ว่า โปรแกรมจัดเวรหากใช้กับพยาบาล จะเกิดประโยชน์สูงสุดในทันที ขณะที่หากใช้กับแพทย์ ยังต้องการการพัฒนาในขั้นต่อไป


แว่วๆมาว่า เวอร์ชันถัดไปของโปรแกรมจัดเวร จะข้ามวงเวรข้ามแผนกกันได้ น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์กับแพทย์มากๆเลยค่ะ


(เค้าคิดค่าใช้จ่ายรายหัว ถ้า 1 หัวข้ามหลายวงเวรก็น่าจะไม่เสียเงินเพิ่ม(รึเปล่านะ) พูดลอยๆเผื่อการเงินได้ยิน)



ประโยชน์ลับที่ไม่คาดฝัน

การจัดเวรที่ "ดูเหมือน" ไม่เป็นธรรม เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้คนในองค์กรแตกหักกันมานักต่อนักแล้ว


การจัดเวรว่ายากแล้ว การจัดเวรอย่างละเอียดรอบคอบเหมาะสมกับทุกฝ่ายนั้นยากกว่า หลายครั้งคนหนึ่งขอเวรบ่อยก็ได้บ่อย แต่พอถึงคนนานๆทีขอ กลับเจอวันให้ไม่ได้ก็กลายเป็นปัญหา หรือแม้แต่เรื่องทั่วไปอย่างการกระจายเวร การให้วันหยุด แต่ละคนก็มองรูปแบบที่ออกมาต่างๆกันไป สุดท้ายอาจบ่มเพาะ สนิมเกิดแต่เนื้อใน กลายเป็นความบาดหมางที่ยากจะหายในที่สุด


ตอนที่ซื้อโปรแกรม วงเวรของผู้เขียนไม่ได้มีปัญหานะคะ แต่มองว่าเสียเงินเดือนหนึ่งไม่กี่บาท แลกกับความสงบสุขในอนาคตนั้นคุ้มมาก จึงจ่ายออกไปค่ะ


ขณะนี้ จากประเด็นเวรไม่เท่าเทียม กลายเป็นพี่ๆหนูกดผิดจะกดใหม่อย่างไร พี่ๆเวรอันนี้มันซ้อนอ่ะ bug หรือเปล่า เราบอกเขาดีไหม เรียกว่าไม่มีตีกันเอง มีแต่ตีกับคนขายโปรแกรม สงบสุขกว่ามากค่ะ (แต่ HLAB บริการดีนะคะ)


แนะนำว่า หากองค์กรแพทย์ใดมองเห็นอนาคตรำไร อยากจะตัดไฟแต่ต้นลม ลองใช้โปรแกรมจัดเวรดูนะคะ 



โดยรวมในฐานะผู้ใช้งาน ผู้เขียนมองว่าจะเลือกซื้อโปรแกรมจัดเวรสักตัวนั้น ควรพิจารณา 2 ประการ


  1. Algorithm ในการจัดเวร 

เวรที่ออกมาดีหรือไม่ ตอบสนอง condition ของเราได้ไหม จัดแล้วดีกับ work-life balance ของเจ้าหน้าที่เราหรือเปล่า โปรแกรมที่ดีต้องมี algorithm ที่ดีด้วยค่ะ และในทางเทคนิกแล้ว algorithm ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีค่ามากของบริษัทนั้นๆ เรื่องนี้เราคนใช้งานไม่ค่อยรู้ แต่ algorithm ของแต่ละเจ้าไม่เหมือนกันค่ะ


2. User Interface และ After-sale Service 

โปรแกรมใช้ง่ายไหม ตอบสนองเราได้ไหม ทีมงานพูดคุยแล้วปรับแก้หรือเปล่า จริงๆข้อนี้สำคัญน้อยกว่าข้อ 1 และแม้ยังมีจุดบกพร่อง หาก service ดีก็ค่อยๆปรับแก้ได้


การใช้โปรแกรมในการบริหารจัดการเวรมีประโยชน์มากโดยตัวมันเองอยู่แล้ว เพียงแค่ว่าเราจะหาโปรแกรมแบบใดมาใช้ก็เท่านั้น


ยุคนี้สมัยนี้โลกเปลี่ยนไปมาก อะไรที่ไม่เคยเห็น อะไรที่เคยเป็นความทุกข์ทรมาน ลองบริหารจัดการด้วยแนวคิดยุคใหม่ อาจมีคำตอบใหม่ๆที่ไฉไลกว่าเดิมก็ได้ค่ะ


บทความนี้อาจเป็นรีวิวที่ไม่สมบูรณ์นัก แต่รับรองว่า แม้ตีพิมพ์กับ HLAB ก็ CR ไม่ใช่ SR แน่นอนค่ะ



ดู 579 ครั้ง

Comments


bottom of page