top of page
  • Apichaya Sukprasert

Nurse Shortage : เมื่อพยาบาลใหม่ยังไม่มา และอัตรากำลังยังขาดแคลน

สาธารณสุขไทยเผชิญปัญหาขาดแคลนพยาบาลมาอย่างยาวนาน 

.

การโฟกัสการผลิตพยาบาลเพิ่ม และการลดการลาออก ล้วนเป็นทางออกระยะยาวทั้งสิ้น

แต่ชีวิตพยาบาลแต่ละวัน จะผ่านไปได้อย่างไร ถ้าไม่มีคนสนใจ “การแก้ปัญหาระยะสั้น” 

ว่าในช่วงไม่กี่ปี ไม่กี่เดือน หรือเพียงแค่เวรที่จะถึงต่อไปนี้นั้น พวกเราจะผ่านไปด้วยกันอย่างไร

.

ร่วมอ่านทางออกร่วมกันได้ในบทความนี้ค่ะ





การแก้ปัญหาจากอัตรากำลังพยาบาลขาดแคลน


หากคิดแบบกำปั้นทุบดิน อัตรากำลังขาดแคลนก็ต้องเพิ่ม จากการทบทวนงานวิจัย พบหลายโรงพยาบาลพยายามว่าจ้างพยาบาลมาเสริม ทั้งแบบ part-time และ full-time หรือแม้แต่ในบางประเทศ พยายามปรับระบบการเรียนการสอนพยาบาล มีระบบเทรนนิ่งคล้ายแพทย์ประจำบ้าน แต่เป็นสายพยาบาล โดยนัยคือการเพิ่มอัตรากำลังชั่วคราวจากพยาบาลที่มาเรียนเฉพาะทางเพิ่มนั่นเอง


อย่างไรก็ดี วิธีการเพิ่มอัตรากำลังพยาบาลดังกล่าวนี้ อาจช่วยได้ในบางบริบทเท่านั้น หลายพื้นที่ไม่มีแม้แต่พยาบาลให้ว่าจ้างเพิ่มด้วยซ้ำ จำต้องค้นหาลู่ทางอื่นทดแทน


ที่น่าสนใจคือระบบ Floating Nurse Team


ในบริบทที่มีพยาบาลจำกัด แต่กลับกระจายตัวไปตามหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีผู้ป่วยมากบ้างน้อยบ้าง สัดส่วนพยาบาลต่อผู้ป่วยจึงแตกต่างกันไป บางแผนกพยาบาลน้อยคนไข้มากงานจึงหนัก อีกแผนกกลับกันงานเบากว่าก็เป็นได้ นั่นหมายถึง เราเกิดปัญหา demand ไม่ตรงกับ supply และนี่คือช่องว่างที่น่าต่อยอดพัฒนา


หลายประเทศเริ่มจาก crossed training หรือฝึกอบรมให้พยาบาลคนหนึ่งสามารถดูแลผู้ป่วยได้หลายแผนก จากนั้นจัดเวรให้พยาบาลคนเดียวกันนี้เป็นตัวลอยเผื่อเรียก กรณีเวรนั้นๆแผนกอื่น(ที่ตนมีความสามารถ)เกิดปัญหา


เมื่อได้ผลดี หลายประเทศต่อยอดเพิ่ม จัดทีมพยาบาลที่มีความสามารถหลากหลาย ให้เป็น Floating Nurse Team มีตารางเวรแน่ชัด แต่ไม่สังกัดหอผู้ป่วยใด ในทุกเวรจะมีการสำรวจว่าแผนกไหนขาดแคลนอย่างไร จากนั้นหัวหน้าพยาบาล/ผู้ตรวจการณ์จึงค่อยแจกจ่าย ให้ floating nurse ขึ้นเวรที่แผนกนั้นๆ


วิธีการเช่นนี้อาจดูไม่คุ้นสำหรับพยาบาลไทยอยู่บ้าง แต่มีงานวิจัยพบว่าได้ผลดีมากค่ะ


เพราะแม้พยาบาลหลายท่านอาจกังวลที่ต้องทำงานที่ตนไม่คุ้น แต่หากได้รับการฝึกฝนมาก่อน ได้รับจ่ายเฉพาะหน้าที่ member ทำงานเฉพาะหน้า เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก ความกังวลจะลด ความมั่นใจจะมา ทั้งยังพบว่าการไม่สังกัดแผนกใด กลับทำให้พยาบาลกลุ่มนี้เห็นภาพทั้งโรงพยาบาล ได้รับความรู้จากหลายหน่วยงาน และกลายเป็นสื่อกลางของ best practice ระหว่างหน่วยงานไปโดยปริยาย ทั้งยังมีรายงานด้วยว่า ความเครียดที่เกิดจากบรรยากาศหรือการเมืองในที่ทำงานก็ลดลงด้วยค่ะ


และสำหรับผู้บริหารแล้ว การจัดให้มี Floating Nurse Team อาจช่วยเรื่องการบริหารเงินโอทีได้อีกด้วย



การแก้ปัญหาจากจำนวนผู้ป่วย


ที่เล่ามาข้างต้น ล้วนเป็นการแก้ปัญหาด้วยอัตรากำลังพยาบาลทั้งสิ้น แต่หากคิดกลับกัน พยาบาลไม่พอก็บริหารที่ภาระงาน น่าสนใจว่าการแก้ปัญหาจะแตกต่างไปอย่างไร


พบว่าหลายโรงพยาบาลก็คิดเช่นนี้ค่ะ


หากภาระงานมากไปในบางจุด ก็ทำการย้ายภาระงานนั้นไปไว้อีกจุด เพื่อบริหารสัดส่วนพยาบาลต่อผู้ป่วยให้คงที่ 

หัวหน้าพยาบาล/ผู้ตรวจการณ์อาจสั่งย้ายผู้ป่วยจากหอผู้ป่วยแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง หรืออาจสั่งให้ผู้ป่วยแอดมิทใหม่เปลี่ยนหอผู้ป่วยปลายทางก็เป็นได้


วิธีการเช่นนี้ อาจมีปัญหาพยาบาลไม่ชำนาญการดูเคสอยู่บ้าง แต่หากวางกฎเกณฑ์แน่ชัด บริหารเฉพาะผู้ป่วยส่วนที่ดูแลไม่ยาก ย่อมสามารถเป็นไปได้


และวิธีการสุดท้าย ตั้งลิมิตเตียงเต็มไว้ ห้ามมิให้มีการแอดมิทใหม่ เพื่อบรรเทาปัญหาอัตรากำลังบนหอผู้ป่วย ทว่าวิธีการนี้ กลับเป็นการผลักภาระให้ห้องฉุกเฉิน ซึ่งนั่นจะนำไปสู่การปฏิเสธเคสฉุกเฉิน ซึ่งหลายประเทศถือเป็นเรื่องรับไม่ได้อย่างร้ายแรง



ต่อยอดพัฒนาการบริหารจัดการอัตรากำลัง


ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้า หลายแห่งเริ่มใช้คอมพิวเตอร์เข้าช่วย ไม่เพียงการจัดเวรด้วยโปรแกรมเท่านั้น หลายโรงพยาบาลที่มีระบบ Floating Nurse Team และระบบบริหารเตียงให้ตรงกับอัตรากำลัง ก็เริ่มใช้โปรแกรมเข้าช่วย


อัลกอริธึ่มจะคำนวณหาจำนวนพยาบาลพื้นฐานของแต่ละหน่วยงาน อ้างอิงจากจำนวนผู้ป่วยโดยเฉลี่ย จุดนี้จะได้ตัวเลขออกมาค่าหนึ่ง ซึ่งเป็นอัตรากำลังที่หน่วยงานนั้นๆสามารถปฎิบัติงานได้ ภายใต้สภาวะปกติ


จากนั้นหาจำนวนพยาบาล Floating Nurse Team ที่เหมาะสม สำหรับภาระงานไม่แน่นอนไม่คงที่ อ้างอิงจากสถิติภาระงานที่เคลื่อนไหวขึ้นลงในแต่ละวัน 


ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยสายคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ยังเริ่มลงลึกหาตัวเลือกต่างๆ 


มีทั้งอัลกอริธึ่มสำหรับหาจำนวนพยาบาลที่คุ้มทุนมากที่สุด (ซึ่งอาจให้จำนวนพยาบาลพื้นฐานที่ understaffed เล็กน้อย ผสมกับ floating nurse team ที่มากกว่าปกติ หรือกลับกันในบางบริบท) หรืออาจลงลึกไปถึงการผสมผสาน ระหว่างการหาจำนวนพยาบาล ผสมกับ cut-point จำนวนเตียงที่จำต้องเริ่มโยกย้าย โดยมีเป้าหมายให้เกิด best practice บนจุดที่คุ้มทุนที่สุดนั่นเอง



โดยสรุป การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อพยาบาลขาดแคลน อาจทำได้ทั้งการบริหารฝั่ง supply นั่นคืออัตรากำลังพยาบาล ทั้งการเพิ่มจำนวน หรือเพิ่มความสามารถ ให้ผู้บริหารโยกย้ายจัดการได้ และอาจทำที่ฝั่ง demand บริหารเคสกระจายไปหา supply เกลี่ยภาระงาน เกลี่ยอัตรากำลัง หรือทำร่วมกันทั้งสองฝ่าย และอาจใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้าช่วย ใช้อัลกอริธึ่มช่วยคำนวณ เพื่อหาวิถีทางที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดนั่นเอง

ดู 524 ครั้ง

Comments


bottom of page