ในยุคที่เตียงเต็มแทบจะตลอดเวลา หาเตียงไม่ได้ โยกเตียงจากที่ไหนก็ไม่มี
“Bed Utilization” หรือจะเรียกอย่างเข้าใจง่ายว่า “การบริหารจัดการเตียงอย่างมีประสิทธิภาพ” นั้น ก็ถูกฉายสปอตไลท์ขึ้นมา
แต่ก่อนจะเข้าเรื่อง ในประเทศไทยของเรา มีโรงพยาบาลจำนวนมากที่ใช้นโยบาย “รับไม่อั้น” ค่ะ
โรงพยาบาลส่วนใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข(เช่น โรงพยาบาลจังหวัดต่างๆ) รวมถึงกรุงเทพมหานคร(เช่น โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตน์)
ใช้นโยบายรับไม่อั้น ทำให้ไม่มีปัญหาเตียงเต็มเกิดขึ้น
ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี แบบนี้เราก็ไม่ต้องกังวลเรื่องเตียงโรงพยาบาลเต็มแล้วสิ
แต่กลับกันเลยค่ะ แม้ว่าจะไม่มีปัญหาเตียงเต็ม แต่ปัญหาที่เข้ามาแทนที่ คือเจ้าหน้าที่หมดไฟ Burn out หมดกำลังใจ อยากลาออกในทุก ๆ วันแทน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการควบคุมคุณภาพการให้บริการด้วยค่ะ
แบบนี้ Bed Utilization จะเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ทั้งในโรงพยาบาลที่เตียงเต็ม และโรงพยาบาลที่รับไม่อั้น เรามาติดตามไปพร้อมกันเลยค่ะ
—
เตียงเต็มก็เอาออก
“หมอคะ เคสนี้ได้เตียงแล้ว แต่เขาบอกคนไข้เดิมยังไม่กลับ…รอญาติมาเรียนแคร์สายค่ะ น่าจะเย็นๆเลย”
พบว่ากระบวนการจำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้าน โดยเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ๆที่ผู้ป่วยซับซ้อน ประกอบด้วยกิจกรรมหลายอย่าง และใช้เวลานาน
เริ่มตั้งแต่ แพทย์หน่วยต่างๆสั่งยาและสั่งนัดครบแล้วหรือไม่ เภสัชกรทบทวนยาแล้วเป็นอย่างไร พยาบาลให้คำแนะนำแล้วหรือไม่ สหสาขาวิชาชีพร่วมประเมินก่อนกลับบ้านหรือยัง
ไม่เพียงสั่งยากลับบ้านเท่านั้น แต่ยิ่งผู้ป่วยซับซ้อนยิ่งต้องมีกิจกรรรมเตรียมตัวเตรียมบ้านเพื่อให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย
ในขณะที่ผู้ป่วยซึ่งกำลังรอเตียง ค้างอยู่ที่ห้องฉุกเฉิน พลาดโอกาสรักษาในบริบทที่ถูกต้องเหมาะสม และกลายเป็นส่วนหนึ่งของ ED overcrowding กระทบต่อระบบในวงกว้าง
มองในแง่ Bed Utilization ไม่อาจถือว่าคุ้มค่า
ไม่เพียงในไทย แต่หลายประเทศมีปัญหาเดียวกันค่ะ จึงเริ่มมีแนวคิดจัดหอผู้ป่วยสำหรับรอกลับบ้านแยก บางแห่งให้ย้ายผู้ป่วยลงตั้งแต่อาการคงที่ ลงมาเน้นฟื้นฟูเตรียมญาติเตรียมบ้าน บางแห่งให้ย้ายวันที่กลับบ้าน ลงไปรอทำเรื่องทำอเอกสาร ถือเป็นการเปิดเตียงนั้นๆให้คนถัดไปขึ้นมาได้ทันที
เพื่อบริหารจัดการ 24 ชั่วโมงสุดท้ายที่ผู้ป่วยอาการดี แต่จำต้องค้างรอด้วยสาเหตุต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ และเปิดเตียงให้ได้มากที่สุด
—
เตียงซ่อนเอาออกมาใช้
“ผมอยากแอดมิทเคสนี้มาก แต่เตียงวอร์ดเราไม่มีเลย ต้องไปหายืมแผนกอื่นก่อน”
หนึ่งในวิธีแก้เตียงเต็มคลาสสิค คือการขอยืมเตียงหอผู้ป่วยอื่น ศัลย์เต็มยืมสูฯ เด็กเต็มยืมตา ฯลฯ ซึ่งก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง
บางโรงพยาบาลจึงเกิดแนวคิดแตกต่าง ทุบหอผู้ป่วยรวมกัน ไม่แบ่งแยกแผนกใด
แคมปัสใหม่ของโรงเรียนแพทย์ในไทยเริ่มใช้ระบบนี้บ้างแล้วค่ะ โดยเน้นให้ทุกหอผู้ป่วยรับผู้ป่วยได้ทุกประเทศ อาจมีแยกบ้างในแง่หญิงชาย หรือเด็กผู้ใหญ่ แต่จะไม่แยกว่าเตียงเมดเตียงศัลย์เตียงใคร ขอแค่เป็นผู้ใหญ่รับหมด
ระบบนี้รวบเตียงของทั้งโรงพยาบาลเป็นกลุ่มเดียวกัน หากเตียงเต็มเมื่อใดนั้น ก็แปลว่าเตียงนั้นเต็มจริงๆ ไม่เหลือที่ใด เรียกว่าใช้เตียงได้อย่างเต็มเม็ดสะเด็ดน้ำแล้วจริงๆค่ะ
อย่างไรก็ตาม ระบบนี้มีปัญหาในตัวเช่นกัน
พยายามที่ประจำหอผู้ป่วย ดั้งเดิมอยู่หอของแผนกใด ก็จะเชี่ยวชาญโรคและหัตถการในแผนกนั้นมาก (บางที่ถึงขั้นแนะนำหมอใหม่ๆได้) แต่เมื่อไม่แยกย่อย ผู้ป่วยที่เข้ามาหลากหลาย ทักษะที่ต้องการประสบการณ์ในการสั่งสม จึงเกิดขึ้นได้อย่างช้าๆ หรือกระจัดกระจาย ไม่ไปทางใดทางหนึ่ง
มีระบบคล้ายกันที่น่าสนใจค่ะ
ที่สิงคโปร์หอผู้ป่วยจะแยกย่อย ไม่ใช่ตามแผนก แต่เป็นไปตามระบบเด่นของคนไข้ เช่น หอผู้ป่วยไตและทางเดินปัสสาวะ ก็มีจะมีผู้ป่วยทั้งอายุรกรรมโรคไตและศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
วิธีการเช่นนี้ทำให้การบริหารเตียงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสให้พยาบาลได้พัฒนาทักษะสำคัญที่โฟกัสเฉพาะเรื่องไป ถือเป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจ
—
ไม่มีเตียงก็...ไม่ต้องนอน (ได้เหรอ)
และสุดท้าย วิธีสุดฮิตในกรุงเทพฯยุคนี้ ลดการadmit หาทางเลือกใหม่ๆ
สมัยก่อน เป็นไข้ กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ สัญญาณชีพเข้าได้กับ SIRs ถือว่านอนรพ.ทุกราย แต่เดี๋ยวนี้แตกต่างไป เรามีอุปกรณ์ใหม่ๆ มี parameter ให้ใช้ หากแพทย์มั่นใจว่าผู้ป่วยรายนี้ “ไหว” อาจมีทางเลือกให้กลับบ้านได้ แค่ต้องนัดมาฉีดยาวันละครั้ง เพาะเชื้อทิ้งไว้ หากมีอะไรให้รีบมา เป็นต้น
ยิ่งหลังยุคโควิดเป็นต้นมา Telemedicine พัฒนาและได้รับการยอมรับมากขึ้น การกลับบ้านและใช้เทคโนโลยีช่วยติดตามการรักษา หรือแม้แต่มองว่าบ้านคือ homeward จึงกลายเป็นอีกทางเลือก
จะเห็นได้ว่า แพทย์ด่านหน้าจำต้องมีความรู้มากขึ้น ทั้งในเรื่องการดูแลรักษา ระบบบริการสุขภาพในภาพใหญ่ ไปจนถึงกระบวนการตัดสินใจ ที่ต้องชั่งข้อดีข้อเสียอย่างรอบด้านมากขึ้นเรื่อยๆ
—
สุดท้าย(อีกรอบ) หากเตียงไม่มีแล้วจริงๆ ทำอย่างไรก็ไม่มี ก็ต้องเพิ่มเตียงค่ะ ซึ่งโรงพยาบาลไม่ใช่สถานที่แต่เป็นบุคคล การเพิ่มเตียงแปลว่าเพิ่มจำนวนคน ต่อให้ตึกไม่มีที่ขึ้นแล้วแต่มีคน เตียงก็เพิ่มได้ค่ะ
ข่าวใหญ่ล่าสุดอย่างเรื่องการเพิ่มจำนวนพยาบาล ผ่านหลักสูตร 2 ปีครึ่ง จึงอาจเป็นนโยบายที่ออกมาเพื่อตอบสนองปัญหากำลังคน ที่มีแต่สาละวันจะเตี้ยลงทุกวันๆก็เป็น
อันที่จริงเรื่องการเพิ่มจำนวนพยาบาล นับเป็นข่าวใหญ่ที่มีกระแสทั้งตอบรับตอบโต้นะคะ แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นโยบายนี้จะช่วยให้พยาบาลในประเทศเราเพิ่มขึ้น และหวังว่ารูรั่วอื่น อย่างภาระงานหรือปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการคงอยู่ในระบบจะดีขึ้นด้วยค่ะ
Comentários