ปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศขับเคลื่อนนโยบาย “ผลิตแพทย์ป้อนรพ.สต. 3 คนต่อ 1 แห่ง” เน้นกระจายลงทั่วไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ บรรเทาค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามและแรงต้านมากมาย จากทั้งแพทย์และบุคลากรในวงการหลากหลายฝ่าย
การผลิตแพทย์นั้นใช่ง่ายดาย เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเร่งเครื่องสั่งผลิตได้ดั่งใจ เสมือนสิ่งของชิ้นหนึ่ง?
คำถามนี้แม้อาจดูรุนแรงไปบ้าง แต่ก็นับว่ามีประเด็นที่น่ากังวลใจหลายเรื่องราว
—
กังวล 1 : คุณภาพแพทย์จบใหม่
หลายปีที่ผ่านมา มีคณะแพทย์เปิดใหม่หลายแห่งทั่วทุกภูมิภาค แง่หนึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดีมาก แต่อีกแง่มีความกังวลถึงคุณภาพของแพทย์จบใหม่เสมอมา
จริงอยู่โรงเรียนแพทย์ทุกแห่งย่อมต้องผ่านเกณฑ์คุณภาพ แต่ชีวิตจริงแพทย์เป็นวิชาชีพอาศัยประสบการณ์ หลายอย่างจำต้องเรียนรู้จากผู้ป่วยจริง ภายใต้การควบคุมของอาจารย์หรือแพทย์รุ่นพี่ชนิดจับมือทำ
นั่นคือ ไม่เพียงอาคารสถานที่ หรือหลักสูตรเขียนได้ดีมากน้อยเพียงใดเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยคณาจารย์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์พี่เลี้ยงที่มีจำนวนและเวลาเพียงพอ ระบบโรงพยาบาลที่พร้อม ตลอดจนผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก มีความหลากหลาย เพียงพอแก่การศึกษาเล่าเรียน
แม้แต่โรงเรียนแพทย์เก่าแก่ ยังประสบปัญหาจำนวนเคสที่เหมาะแก่การเรียนรู้ของนักเรียนแพทย์ไม่เพียงพอ บางแห่งจำต้องหาลู่ทางขยายวิทยาเขต เปิดโรงพยาบาลแห่งที่สอง หรือส่งนักเรียนแพทย์ปีสุดท้ายออกไปยังหัวเมืองโดยรอบ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์
ในขณะเดียวกัน โรงเรียนแพทย์เปิดใหม่ รวมถึงศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา ก็ประสบปัญหาแม้มีเคสที่เหมาะแก่การเรียนรู้มากกว่า แต่คณาจารย์ไม่มาก แพทย์พี่เลี้ยงไม่เพียงพอ ยังเน้นงานบริการมากกว่างานสอน นับเป็นปัญหาเช่นกัน
การก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งใหม่ แม้ไม่ถึงกับยากจนทำไม่ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งไม่อาจเร่งรัดให้สำเร็จในเร็ววัน
การเร่งผลิตแพทย์ด้วยวิธีใดๆนั้น ในวงการแพทย์แล้ว กลับเป็นเรื่องที่มองไม่เห็นทางออกอย่างแท้จริง
อันที่จริงก่อนรับใบประกอบวิชาชีพ จะมีการสอบจากส่วนกลางก่อน แต่การสอบแม้มีหลายขั้นตอน ทั้งข้อเขียนข้อปฏิบัติ แต่แพทย์อาวุโสหลายท่านยังมองว่าไม่เพียงพอ
—
กังวล 2 : ภาระงานสอนที่ค้านกับจำนวนบุคลากรในปัจจุบัน
รูปแบบการเร่งผลิตแพทย์โดยกระทรวงสาธารณสุข น่าจะล้อไปกับรูปแบบการเพิ่มศักยภาพการผลิตแพทย์ในยุคหลังๆ นั่นคือชั้นปี 1-3 (ปรีคลินิค) ฝากเรียนในโรงเรียนแพทย์ที่มีมาแต่เดิมก่อน จากนั้นเมื่อเข้าสู่ชั้นคลินิค หรือปี 4-6 จึงส่งไปเรียนรู้ที่ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา ซึ่งมักเป็นโรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อกระทรวงสาธารณสุขต้องการเร่งผลิตแพทย์ นั่นหมายถึงการเร่งขยายหรือเพิ่มศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา ให้รองรับนักเรียนแพทย์ได้มากขึ้น มีจำนวนมากขึ้น
แต่การเปิดเพิ่มนั้น มิได้หมายถึงการเปิดโรงพยาบาลเพิ่ม แต่หมายถึง “การปรับโรงพยาบาลที่มีอยู่แต่เดิม ให้รองรับการเรียนการสอนด้วยได้”
โรงพยาบาลที่ว่า ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งคือโรงพยาบาลหลักในภาคหรือในจังหวัดนั้นๆนั่นเอง
ทว่า การปรับโรงพยาบาลดังกล่าวให้รองรับการเรียนการสอน มิได้มาพร้อมบุคลากรเสมอไป งบประมาณอาจเพิ่มขึ้น สถานที่อาจสร้างได้ แต่บุคลากรที่งานล้นมือ จะหาเวลาใดมาสอนเด็กได้ ครั้นจะลดงานบริการผู้ป่วยแต่ดั้งเดิมลง แล้วผู้ป่วยเหล่านั้นจะไปหาที่พึ่งที่ใด
งานเดิมที่หนักหนาไม่เคยลด งานสอนกลับเข้ามาเสริม ตรวจราชการมาเพิ่ม ยังไม่นับเรื่องตกเบิกที่ยังเป็นประเด็นคาใจ
วงการแพทย์เกิดการวิจารณ์โดยทั่วไป ถึงวิถีทางของนโยบายใหม่ ที่อาจกลายเป็นการผลักแพทย์ดั้งเดิมที่คงอยู่ในระบบ ให้ออกนอกระบบจากงานทับถมเสียอย่างนั้น
แม้ความกังวลดังกล่าวจะดูเร็วเกินไป เพราะรายละเอียดนโยบายก็ยังไม่ออก และอาจดูเหมือนกังวลมากไปบ้าง แต่ปัญหาหลักของสาธารณสุขแต่เก่าก่อนแก้ไม่เคยได้นั้น คือการคงอยู่ของแพทย์ในระบบนี่เอง
ไม่แน่ใจว่า แนวทางการเร่งผลิตแพทย์จะกล่าวถึงเรื่องนี้หรือไม่ หากไม่ ก็นับว่าน่ากังวลใจอย่างแท้จริง
—
กังวล 3 : เรียนจบแล้วไปไหน
สุดท้าย วงการแพทย์ยังตั้งข้อสงสัย ว่าสธ.แก้ปัญหาถูกจุดจริงหรือไม่
แพทย์ไทยไม่เพียงพอ แท้จริงแล้วเป็นเพราะจำนวนไม่พอ หรือรั่วไหลออกจากระบบไปกันแน่
เป็นที่รู้กันดีว่า ปัญหาการคงอยู่ของแพทย์ในระบบ เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน อาจเกิดจากภาระงาน ระบบราชการ วัฒนธรรมบางอย่างขององค์กร แต่ปัจจัยทั้งหลาย ยังไม่ถูกแก้ทั้งหมด หรือบางท่านอาจใช้คำว่ายังแก้ไม่ถูกจุด แพทย์ไทยยังคงไหลออกนอกระบบไม่กลับมา
ดังนั้นปัญหาจึงไม่ควรถูกแก้ด้วยว่า เมื่อตุ่มรั่วน้ำไหลออกไป ก็เติมน้ำเข้าไปใหม่ให้ทันกัน
เพราะแม้จะเติมน้ำทัน แต่หากภาชนะยังมีรั่วไหล น้ำที่เติมเข้าไป ก็ย่อมไหลออกไปเช่นกัน
โดยสรุปแล้ว นโยบายเร่งผลิตแพทย์ ไม่อาจทำได้เพียงเขียนหลักสูตรขึ้นใหม่เท่านั้น แต่ต้องระมัดระวัง ทั้งคุณภาพการเรียนการสอน ภาระงานเพิ่มเติมจากการสอน ไปจนถึงปัญหาที่ปลายทางด้วยนั่นเอง
Comments