หลายวันก่อน มีโอกาสฟังประสบการณ์ตรงจากพี่หมอปีย์ ที่มาเล่า Journey ในการพยายามใช้ IT เพื่อรักษาชีวิตของคนไข้ในโรงพยาบาล การเดินทางบนถนนสายนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ กว่าที่ทุกอย่างจะลงตัว พี่หมอต้องเจอกับบททดสอบมากมาย ที่จุดประกายให้พี่หมอของเราคิดว่า “บางที IT ก็ไม่ WORK! เสมอไป” เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร มาลองดูกันกับ เรื่องเล่าชาว H Lab ตอนนี้กันได้เลย
พี่หมอปีย์เคยมีโอกาสทำงานเป็นแพทย์ HA ดูแลด้านคุณภาพของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่น่าจะสงบเรียบร้อยดี แต่.. พี่หมอกลับเจอเรื่องราวเซอร์ไพร์สมากมาย ตั้งแต่ในช่วงแรกของการทำงาน เริ่มต้นจากการออกราวน์คนไข้ เพื่อตรวจ พูดคุย และรับฟังปัญหาต่างๆ ซึ่งในหลายครั้งพี่หมอพบคนไข้อาการหนักผิดปกติ แบบไม่ทันตั้งตัวและไม่ควรเจอ บางเคสถึงขั้นต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดเลยทีเดียว การเจอเหตุการณ์เซอร์ไพรส์ครั้งเดียวเป็นเรื่องที่พอรับได้ แต่ถ้าเกิดหลายครั้งเข้า คงไม่ใช่เรื่องปกติ พี่หมอของเราจึงได้เริ่มวางแผนรับมือกับเรื่องต่างๆ เริ่มจากการส่งสัญญาณเตือนแบบเนียนๆ ด้วยการเขียนตัวอักษรว่า “SURPRISE” ตามด้วยหมายเลขผู้ป่วย แล้วนำไปติดไว้หน้าวอร์ดพยาบาลในทุกครั้งที่เจอคนไข้อาการผิดปกติ พร้อมทั้งมองหา Solution ต่างๆ รวมถึง IT เพื่อมาแก้ปัญหาและช่วยชีวิตคนไข้จากภาวะเสี่ยงไปพร้อมๆกัน จนพี่หมอได้พบกับ “NEWS SCORE*” ที่คิดว่าเข้าท่าเข้าที และดูจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิด Standard ในการดูแลคนไข้ได้อย่างดี ด้วยการมอนิเตอร์ Vital Sign ที่ทำได้ไม่ยุ่งยาก และไม่ต้องใช้ความสามารถพิเศษเฉพาะตัวของคนทำงาน จนอาจทำให้คนไข้ต้องเสี่ยงตามไปด้วย
* NEWS ไม่ได้หมายถึง “ข่าว” หรือการรายงานข่าว ที่ย่อมาจาก North, East, West และ South อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ NEWS ในที่นี้มาจากคำว่า National Early Warning Score เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินภาวะเสี่ยงของคนไข้ และทำให้รับมือได้ทัท่วงที ทำให้ NEWS เป็นอีกหนึ่งระบบที่นิยมใช้กันมายาวนานกว่า 10 ปี และมีการพัฒนาเพื่อใช้งานอย่างต่อเนื่องสำหรับใช้งานในแผนกผู้ป่วยที่ต่างกัน เช่น ระบบ PEWS หรือ Pediatric Early Warning Score ที่มีการปรับลดบางพารามิเตอร์ จาก NEWS ออก และเพิ่มการวัดค่า Central capillary refill time, Skin tone และการสังเกตพฤติกรรมของคนไข้ เพื่อใช้เฝ้าระวังและรับมือต่อผู้ป่วยเด็กที่มีความเสี่ยงสูง
สำหรับคนที่อยากรู้ที่มาของ NEWS PEWS ฉบับเต็ม สามารถคลิกไปอ่านต่อได้ที่ >>> https://bit.ly/3vOUeGf
พี่หมอเริ่มต้นนำระบบ NEWS มาใช้ โดยสร้างเป็น Template ง่ายๆ บนโปรแกรม Excel ให้พยาบาลเวรเป็นผู้กรอก และโปรแกรมจะคำนวณค่าต่างๆ ออกมาให้อย่างอัตโนมัติเพื่อเป็น Guideline ในการดูแลคนไข้ หากผลลัพธ์ที่ได้มีค่าเกินกำหนด พยาบาลเวรจะต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบ เพื่อมอนิเตอร์อาการคนไข้ได้ทัน แต่ถึงจะมีตัวช่วยอย่าง NEWS ที่สามารถ Detect ความผิดปกติล่วงหน้าได้แล้ว แต่.. พี่หมอก็ยังคงเจอกับเคสเซอร์ไพร์ส ขณะออกราวน์ (อีกแล้ว)
เซอร์ไพร์สแรก!!
พี่หมอเจอเคสคนไข้ NEWS สูง แต่ไม่มีการ Notify จากพยาบาลเวร ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซีเรียส และไม่ควรเกิดขึ้น ถ้าพี่หมอไม่ได้มาออกราวน์แล้วพบ คนไข้อาจเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้ สิ่งที่พี่หมอปีย์เลือกทำเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ คือ การทำ Notify Cross Check โดยกำหนดข้อตกลงขึ้นใหม่ว่า เมื่อมีเคสคนไข้ที่ NEWS SCORE สูงกว่าเกณฑ์ ทั้งพยาบาลเวรและผู้ช่วยพยาบาล ต้องไลน์แจ้งทันที หากพี่หมอไม่ได้รับการแจ้งจากฝ่ายใด จะถือว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งผลลัพธ์นั้นก็เป็นตามที่คาดไว้ เพราะหลังออกกฏนี้ทำให้ทั้งพยาบาลและผู้ช่วยต่างตื่นตัว และเกิดการ Notify กันอย่างเป็นจริงเป็นจังขึ้นทันที
เซอร์ไพร์สต่อมา!!
อีกหนึ่งเซอร์ไพร์สยามเช้า ซึ่งเป็นอีกเคสที่จุดประกายให้พี่หมอคิดว่า “บางที IT อาจไม่ได้ตอบโจทย์เสมอไป” ครั้งนี้เป็นเคสของเด็ก ที่มี PEWS SCORE อยู่ที่ 3 คะแนน ที่ไม่ได้สูงถึงเกณฑ์ (แต่เดิมเกณฑ์ที่ตั้งไว้ให้แจ้งแพทย์ คือ PEWS SCORE = 4 ขึ้นไป) แต่น้องมีอาการเหนื่อย อ่อนแรง พอหมอเด็กมาดูอาการ ถึงกับต้องรีบส่งตัวน้องไปที่โรงพยาบาลจังหวัดในทันทีเลย จากตัวอย่างเคสนี้จะเห็นได้ว่า บางครั้งการพึ่งพาระบบ IT เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องร่วมกับการสังเกตอาการหรือสภาวะแวดล้อมของคนไข้ด้วย ตั้งแต่นั้นมาทางโรงพยาบาลจึงปรับเกณฑ์ใหม่ ให้เจ้าหน้าที่ Notify กับแพทย์เมื่อพบเคสเด็กที่มี PEWS SCORE = 3 เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้คนไข้มากยิ่งขึ้น
ระบบ PEWS นั้นมีความซับซ้อนและข้อจำกัดมากมาย ทั้งการมีพารามิเตอร์พิเศษอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา และด้วยค่ามาตรฐานของ PEWS ที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุของคนไข้ ทำให้วอร์ดเด็กเกือบทุกที่ถึงกับส่ายหน้ากันเลย
เซอร์ไพร์สยังไม่หมด!!
ส่วนเซอร์ไพร์สสุดท้าย (แต่ไม่ท้ายสุด) ที่พี่หมอมาแชร์ในครั้งนี้ ก็ทำให้หลายคนเซอร์ไพร์สไปตามกัน ครั้งนี้เป็นเรื่องของการตรวจวัดค่า RR หรือ Respiration Rate ซึ่งเป็นหนึ่งในพารามิเตอร์สำคัญที่หมอนิยมใช้ดูอาการของคนไข้ โดยจะนับการหายใจเข้า-ออกของคนไข้ใน 1 นาที และต้องบอกว่า RR เป็นค่าที่ sensitive มาก ตามเกณฑ์ของ NEWS ค่า RR 20 จะให้ NEWS = 0 แต่ ถ้า RR เพิ่มเป็น 21 จะทำให้ NEWS เพิ่มขึ้นเป็น 2 คะแนน นั่นแปลว่าหากไม่มีการวัด RR ตามจริง อาจส่งผลต่อค่า NEWS ให้ผิดพลาดได้ถึง 2 คะแนนเลยทีเดียว
เซอร์ไพร์สในครั้งนี้เริ่มมาจาก พี่หมอเจอคนไข้เคสหนี่งที่หายใจแปลกๆ จึงไปดูชาร์จ RR แล้วเห็นว่า ค่า RR ของคนไข้ทุกเคส ย้ำว่า ทุกเคส !! ขึ้น 20 20 20 .. ทั้งหมด พี่หมอเริ่มสงสัยจึงสอบถามกับพยาบาล และได้คำตอบว่าไม่ได้ทำการวัด เพราะ RR เป็นการตรวจที่ต้องใช้เวลา ยุ่งยาก ไม่มีเครื่องทุ่นแรงที่วัดปุ๊ปแล้วเห็นผลลัพธ์ได้ทันทีเหมือนการวัดอุณหภูมิหรือความดัน หลังจากได้คำตอบนี้มา พี่หมอถึงกับเฟลไประยะหนึ่งเลย และพยายามคิด มองหา Solution ใหม่เพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ จนได้ Application ชื่อว่า RRate ที่เห็นว่าน่าจะตอบโจทย์ได้อย่างดี ทั้งยังสะดวก ใช้เวลาวัดแค่เพียง 10 วินาที โปรแกรมก็จะคำนวณค่าให้อัตโนมัติเลย แต่ถ้าในกรณีที่คนไข้หายใจไม่คงที่ โปรแกรมก็จะขึ้น Error ให้ทันที
หลังจากได้ App นี้มา พี่หมอก็หายห่วง คิดว่าทุกอย่างจะแฮปปี้ แต่เรื่องไม่จบที่ตรงนี้ เมื่อการออกราวน์ยามเช้าของพี่หมอ พบเคสคนไข้ที่หายใจเหนื่อยผิดปกติ ผลของ RR อยู่ที่ 35 แต่พอพี่หมอไปดูชาร์ต RR พบว่าได้ค่าเท่ากับ 18 (ค่าปกติของ RR = 20) ในใจของพี่หมอคิดว่า คนไข้อาจเพิ่งมีอาการผิดปกติไม่นานนี้ก็ได้ จึงสอบถามญาติของคนไข้ และได้คำตอบมาว่า คนไข้หายใจแบบนี้มาตั้งแต่เช้าแล้ว ทำให้พี่หมอ Fail หนักจนต้องมีการตรวจสอบการทำงานกัน พบว่าผู้ช่วยพยาบาลไม่ได้ทำการวัด RR ของคนไข้ แต่เป็นการมั่วค่า RR โดยสุ่มเลข 19 17 18 สลับไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้โดนจับได้ !!! พอได้ยินคำตอบนี้เข้าพี่หมอของเราถึงกับช็อคไปเลย สุดท้ายพี่หมอต้องมีมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อให้มั่นใจว่าพยาบาลเข้าห้องคนไข้ และตรวจ RR ของคนไข้จริงๆ ซึ่งการทำแบบนี้ก็เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ได้ผล ทุกคนทำงานกันได้เป๊ะมาก และวัดค่าได้แม่นยำมากทีเดียว ดังนั้น นอกจาก IT หรือ Tools ต่างๆ จะต้องใช้งานง่ายและสะดวกแล้ว สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ การสร้าง Culture การทำงานของทุกคนในโรงพยาบาลให้มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง เน้นความถูกต้อง เที่ยงตรง และความปลอดภัยของคนไข้เป็นหลัก
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราว Journey ของพี่หมอปีย์ที่มาพร้อมกับเซอร์ไพร์สต่างๆ ที่ทำให้เราเห็นว่า บางที ..การมี IT หรือ Tool ที่ดี .. ก็อาจไม่ได้เวิร์กเสมอไป มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจถามว่า แล้วระบบ IT อย่าง NEWS, PEWS ควรไปต่อ หรือพอเท่านี้ พี่หมอปีย์ ก็ตอบมาทันที ว่า ควรไปต่อ ! แต่มันต้องควบคู่ไปกับการสร้าง Human Awareness ด้วย เพราะต่อให้เรามีเครื่องมือดีมากแค่ไหน แต่ถ้าคนทำงานไม่ใช้เครื่องมือนั้น ก็คงไร้ประโยชน์
ปลายทางที่สดใสรอเราอยู่
พี่หมอได้ปิดท้ายการเดินทางในครั้งนี้ว่า ..
"หลังจากเราแก้ปัญหาทุกอย่างให้โอเคแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดเลยคือการใช้ IT อย่าง NEWS PEWS ช่วยให้ที่โรงพยาบาลไม่มีคนไข้ Admit ที่มีอาการหนักแบบที่ไม่ทันรับมือเลย ไม่ใช่ว่า ไม่มีคนไข้อาการหนัก แต่เป็นอาการหนักแบบที่เรา Detect ได้ก่อน และเราเองก็สามารถวางใจได้ว่า พรุ่งนี้จะไม่ต้องมาราวน์เคสอะไรไม่รู้ หรือคืนนี้คงไม่ถูกตามไป CPR ที่วอร์ด ซึ่งสำหรับผม มันโอเคมากๆ เลยแหละ"
สุดท้ายนี้ เนื่องจาก H Lab เห็นถึงความสำคัญ และปัญหาของการใช้ NEWS PEWS ของโรงพยาบาล เราจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนวงการแพทย์ ให้การดูแลผู้ป่วยเป็นเรื่องง่าย แม่นยำ และทันท่วงที ด้วยการสร้าง NEWS PEWS calculator เพื่อให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วโลกสามารถใช้งาน โปรแกรมนี้ได้ฟรีๆ
ตอบโจทย์การทำงานทั้ง UX/UI ด้วยการใช้งานที่สะดวกและง่ายดาย (โดยเฉพาะ PEWS ที่ให้คุณหมดกังวลเรื่องค่า normal range ต่างๆ) แถมใช้งานได้ทั้งใน PC , Tablet และ Mobile ตามแต่สะดวก
เท่านั้นยังไม่พอ ใกล้ๆ กับช่องนับ RR เราออกแบบฟีเจอร์พิเศษให้ลิงก์ไปที่ Application RRate เพิ่มความสะดวกให้ด้วย จิ้มปุ๊ปลิงก์ปั๊ป ไม่ต้องเสียเวลาเปิด - ปิด แอปให้เสียเวลา
ดีงามแบบนี้อย่ารอช้า กดโหลดไปใช้กันเลย >>>> https://bit.ly/3vJwIKZ
🔍 รู้จัก H LAB เพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3KjoChw
.
Comentarios