ย้อนไปยังอดีต หลายครั้งที่มนุษย์ทำการปฏิวัติทางเทคโนโลยี เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงกระบวนการการผลิต กระทั่งบางอาชีพสูญหาย หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบไป เช่นเดียวกันขณะนี้เราก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ มีเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ที่สามารถทำงานซับซ้อน วิเคราะห์งานเก่า คิดค้นงานใหม่ คล้ายสมองมนุษย์เข้าไปทุกที
เป็นไปได้หรือไม่ที่ AI จะมาแทนแพทย์?
ขณะนี้เรามี generative AI หลายตัว ที่สามารถค้นหาข้อมูลแทนแพทย์ได้ ให้คำตอบบางอย่างแทนแพทย์ได้ หรือแม้แต่ให้วินิจฉัยง่ายๆแทนแพทย์ได้ แล้วเป็นไปได้หรือไม่ว่า ในอนาคตต่อไป อาชีพแพทย์จะถูกลดบทบาทหรือแม้แต่สูญหายไป มนุษย์ใช้ AI ในการให้วินิจฉัยและรักษาอย่างครบวงจร เป็นไปได้หรือไม่?
--
กระบวนการตรวจวินิจฉัย
บางที่สิ่งที่ยากที่สุดในการเป็นแพทย์ คือกระบวนการตรวจวินิจฉัย ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกระบวนการตรวจวินิจฉัยของแพทย์กันก่อนค่ะ
รูป 1 : กระบวนการตรวจวินิจฉัย
แพทย์จะเริ่มจากการหา "อาการนำ หรือ chief complaint" ถัดมาเมื่อได้อาการนำแล้ว จะเป็นการซักถามเพิ่มเติม เพื่อหากลุ่มอาการที่เข้ากันได้ จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย เพื่อเก็บข้อมูลที่คาดว่าจะเกี่ยวข้อง ตรงส่วนนี้จะซักอะไร ตรวจอะไร ย่อมต้องมีความรู้ทางการแพทย์ในการนำทางระดับหนึ่ง
จากนั้นรวบรวมข้อมูลทั้งหมด เขียนเป็น Problem List และไล่เรียงการวินิจฉัยที่ต้องสงสัย
หากจำเป็น อาจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือถ่ายภาพเอกซเรย์เพิ่มเติมแล้วแต่กรณี
สุดท้าย วิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดและให้วินิจฉัยสุดท้าย (ซึ่งในฐานะแพทย์ บรรทัดนี้สั้นๆแต่ยากที่สุดค่ะ)
มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านคงพอเห็นภาพแล้วว่า เมื่อแตกกระบวนการตรวจวินิจฉัยออกมา ล้วนประกอบด้วยกิจกรรม 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.การรวบรวมข้อมูล 2.การวิเคราะห์ข้อมูล
--
การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาวินิจฉัย
ก่อนจะไปตัดสินกันว่า AI จะมาแทนแพทย์ได้หรือไม่ เราลองทำความเข้าใจวิธีคิดของแพทย์กันก่อนค่ะ
รูป 2 : การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้วินิจฉัย
เมื่อแพทย์ได้ข้อมูลจากการซักประวัติ เขาจะนำข้อมูลมาจัดกลุ่ม ทำเป็นหัวข้อปัญหา (Problem List) จากนั้นเทียบเคียงดูว่า ใกล้เคียงกับกลุ่มอาการใด เข้าได้กับโรคใดบ้าง
จากนั้นไล่เรียงวินิจฉัยที่อาจเป็นไปได้ออกมา วินิจฉัยใดเป็นไปได้มาก วินิจฉัยใดเป็นไปได้น้อยกว่า
จากนั้นเมื่อแพทย์ไปตรวจร่างกายคนไข้ เขาจะนำข้อมูลที่ได้ใหม่ มาจัดกลุ่ม มาทวนสอบกับวินิจฉัยทั้งหลาย ซึ่งไล่เรียงความน่าจะเป็นไว้ วินิจฉัยใดน่าจะเป็นมากขึ้นก็เลื่อนขึ้นไป วินิจฉัยใดน่าจะเป็นน้อยลงก็ดันลงไป สลับตำแหน่งในหัวไปมา
หากยังไม่ชัดเจน อาจส่งตรวจเพิ่มเติม และนำข้อมูลที่ใด มาไล่เรียงวินิจฉัยที่เป็นไปได้อีกครั้ง
นั่นคือ เขาให้ Pretest และ Post Test Probability (ความน่าจะเป็นก่อนและหลังตรวจ) แก่ Differential Diagnosis (วินิจฉัยที่เป็นไปได้) เป็นขั้นๆ และทำซ้ำไปมา
จะเห็นได้ชัดเจนว่า นี่เป็นวิธีคิดที่ AI เข้าใจได้ไม่ยากเลยจริงๆ
น่าสังเกตว่า กระบวนการหาวินิจฉัยที่เป็นไปได้ และข้อมูลสนับสนุนในการให้ความน่าจะเป็นแก่วินิจฉัยเหล่านั้น ล้วนมาจากความรู้ที่มีอยู่เดิม ซึ่ง AI สามารถเรียนรู้เช่นเดียวกับเราได้ หรือแม้แต่เรียนรู้รวดเร็ว มีฐานข้อมูลที่ใหญ่กว่าเราได้
ดูเหมือนการคิดวิเคราะห์ซึ่งเคยเป็นอาวุธสำคัญ และความภาคภูมิใจของแพทย์ จะกลายเป็นจุดแข็งหนึ่งของ AI เช่นกันค่ะ
--
การเก็บรวบรวมข้อมูล
อย่างไรก็ดี เมื่อคิดว่า AI จะมาแทนเราได้จริงๆไหม ก็ยังติดปัญหาอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือการเก็บรวบรวมข้อมูล
ย้อนกลับไปที่ "อาการนำ" การหาอาการนำไม่ง่าย บางครั้งคนไข้ไม่รู้ว่าอาการเช่นนี้เรียกว่าอะไร บางครั้งมีหลายอาการผสมกันไปมา อาการที่ผู้ป่วยเล่าอาจไม่ใช่อาการสำคัญก็เป็นได้ หรือแม้แต่มีความหลากหลายของภาษาพูดที่ใช้ จึงเกิดความยากในการหาอาการนำ
นอกจากนี้ "การตรวจร่างกาย" ยังคงเป็นทักษะที่เรียนรู้ได้ยาก แม้มีการเขียนตำราจัดหลักสูตรสอน แต่การสอนในโรงเรียนแพทย์ แท้จริงแล้วยังต้องสอนกับคนไข้จริงแบบตัวต่อตัว สำหรับการพัฒนา AI ยังถือเป็นอุปสรรคอยู่มาก
ดูเหมือนว่า การเก็บรวบรวมข้อมูล ยังเป็นข้อจำกัดของ AI อยู่ค่ะ
--
AI จะมาแทนแพทย์ได้หรือไม่
พิจารณาจากข้อมูลทั้งหมดแล้ว ดูเหมือนการคิดวิเคราะห์ให้วินิจฉัย เป็นจุดแข็งใหญ่ ที่อาจทำให้ AI คืบคลานเข้ามาแทนที่แพทย์ได้
อย่างไรก็ดี เมื่อลงลึกถึงรายละเอียด กลับพบความไม่ปกติบางอย่าง
ปัจจุบัน การพัฒนา generative AI ซึ่งเป็น machine learning รูปแบบหนึ่งนั้น ต้องการข้อมูลจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ดี ข้อมูลทางการแพทย์ส่วนใหญ่ปิดตาย เนื่องด้วยได้รับความคุ้มครองทางด้านกฎหมาย และสิทธิผู้ป่วยเช่นเดียวกันทั่วโลก
นอกจากนี้ ผู้ป่วยต่างพื้นเพ แม้มีอาการเช่นเดียวกัน กลับจะมีวินิจฉัยที่เป็นไปได้แตกต่างกันไป ด้วยเพราะลักษณะพื้นฐานทางกาย มีผลอย่างมากต่อโรคที่เป็นไปได้ นั่นทำให้แหล่งข้อมูลผู้ป่วยภาษาอังกฤษขนาดใหญ่ อาจไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยจากอีกมุมโลกหนึ่ง
นำไปสู่อุปสรรคสำคัญของการพัฒนา generative AI และอาจรวมไปถึงการวินิจฉัย ที่ไม่สามารถให้ความถูกต้อง 100% ได้ดังที่เคยวาดหวัง
--
ปัญหาของ AI และอนาคตของแพทย์
ในที่สุดแล้ว คำถามที่ว่า AI จะมาแทนแพทย์ได้ไหม คงต้องตอบว่า "ใช่" แต่อาจไม่ใช่อย่างครบวงจรในอนาคตอันใกล้ และอาชีพแพทย์คงยังมีอยู่ต่อไป เพียงแต่อาจมีบทบาทหน้าที่ที่ต้องปรับเปลี่ยนไปจากเดิมอยู่บ้าง
เราทราบกันแล้วว่า AI ยังมีปัญหากับการซักประวัติโดยเฉพาะในภาษาถิ่น และการตรวจร่างกายชนิดสัมผัสผู้ป่วย และทราบอีกว่า การวิเคราะห์ข้อมูลให้วินิจฉัยของ AI สามารถเกิดความผิดพลาด โดยเฉพาะโรคที่มีฐานข้อมูลในภาษานั้นๆไม่มากพอได้
นั่นหมายความว่า แพทย์จะยังคงเป็นผู้ชักนำประวัติ เป็นผู้ตรวจร่างกาย อาจมี AI มาเป็นผู้ช่วย ให้วินิจฉัยผู้ป่วยอย่างง่ายๆได้ และ/หรือช่วยคิดในกรณีที่ซับซ้อนขึ้นได้ และสุดท้ายแพทย์จะเป็นผู้ควบคุมการให้วินิจฉัยในตอนท้าย เพื่อประโยชน์แล้วความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยอย่างสูงสุด
สุดท้ายนี้ คำถามที่ว่า AI จะมาแทนแพทย์ได้ไหม ยังคงมีแง่มุมที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก ไม่ใช่เพียงแพทย์เท่านั้น แล้วเพื่อนร่วมงานในสายโรงพยาบาล จะรับการมาถึงของ AI อย่างไร หรือแม้แต่สำหรับคนไข้ การมีหมอที่ไม่ใช่คนมาให้วินิจฉัย เป็นเรื่องที่รับได้หรือไม่ เมื่อแท้จริงแล้วความวางใจสบายใจ สายใยระหว่างแพทย์กับคนไข้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงจากสถิติเท่านั้น
Kommentarer