top of page
  • Apichaya Sukprasert

หน้างานกับการมาถึงของ Internet of Things

หากจะพูดถึง HIS (Hospital Information System) แล้ว เราอาจนึกถึงระบบบริหารจัดการขนาดใหญ่ อาจนึกถึงข้อมูลมหาศาล และการพัฒนาต่อยอดในระยะยาว เป็นหน้าที่ของผู้บริหารไม่กี่คน


แต่พอถามคนหน้างานโดยเฉพาะที่ตัวน้อยที่สุดแล้ว คำตอบของเรื่องนี้อาจเรียบง่ายกว่าที่คิดนะคะ

บทความนี้เกิดขึ้นหลังผู้เขียนสัมภาษณ์พี่ๆน้องๆผู้ช่วยพยาบาลมาค่ะ ว่าอะไรคือเรื่องดีที่สุดที่เกิดขึ้น หลังโรงพยาบาลเปลี่ยนมาใช้ระบบ HIS คำตอบคือ..


“หนูไม่ต้องจด V/S ลงกระดาษแล้วค่ะ!”


เอ๋!!

หมายความว่ายังไงกันนะ??


ระบบ HIS จะเปลี่ยนแปลงชีวิตคนทำงานให้ดีขึ้นได้อย่างไร มาหาคำตอบไปพร้อมกันค่ะ


จำได้ว่าตอนเป็นหมอตัวน้อยราวด์วอร์ด ที่ปลายเตียงจะมีกระดาษจดสัญญาณชีพอยู่ค่ะ ทุกเวรพี่ผู้ช่วยพยาบาลจะลากเครื่องวัดความดันพร้อมอุปกรณ์คู่ใจ เดินทางไปตามเตียงต่างๆเพื่อวัดสัญญาณชีพ จากนั้นลงบันทึกในแบบบันทึกรวม พร้อมลงบันทึกปลายเตียง และนำมาส่งให้ทีมพยาบาล ก่อนที่ทีมพยาบาลจะลอกลงฟอร์มปรอท(กราฟสัญญาณชีพ) และอาจจะลอกลง nursenote อีกครั้ง


เรื่องเล่าด้านบนฟังดูธรรมดา แต่พอแตกย่อยออกมา กระบวนการนี้มีการลอกซ้ำกี่จุด


คำตอบคือ 3-4 จุด (หรืออาจมากถึง 4-5 จุด) เลยทีเดียวค่ะ


สังเกตว่า จากแรกสุดที่เกิดการวัดสัญญาณชีพ ผู้ช่วยพยาบาลจะต้องลอกลง 2 จุด ได้แก่ บันทึกรวมและบันทึกปลายเตียง การลอกซ้ำที่คล้ายกับเพิ่มงานไม่เพิ่มรายได้นี้ มีประโยชน์ในการทวนสอบเมื่อเกิดความผิดปกติ เช่น สงสัยคัดลอกผิดพลาด ฯลฯ และมีประโยชน์เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ผู้ป่วยอาการแย่ลง ต้องการดูข้อมูลสัญญาณชีพทันที แต่กลับหาชาร์ตไม่เจอซะงั้น ฯลฯ


ถัดมาเมื่อคุณพยาบาลรับข้อมูลสัญญาณชีพมา ก็มักลอกลงอีก 2 จุด ได้แก่ ฟอร์มปรอท ซึ่งมีการพล็อตกราฟให้เห็นความต่อเนื่องของสัญญาณชีพในแต่ละช่วงเวลา และอาจลอกลง nursenote อีกครั้งสำหรับไว้ส่งเวรตามวัฒนธรรมองค์กร


เมื่อลองสอบถามแพทย์วอร์ด ก็ได้คำตอบสอดคล้องกันค่ะ 


พวกเขามักดูสัญญาณชีพ 2 จุด ได้แก่ ฟอร์มปรอท และปลายเตียง เนื่องด้วยต้องการดูความต่อเนื่อง และเพราะไม่มั่นใจ เกรงว่าจะเกิดความคลาดเคลื่อนระหว่างลอกซ้ำ 


มาถึงจุดนี้ จะเห็นได้ว่า การลอกซ้ำในระบบที่การส่งต่อข้อมูลเกิดขึ้นบนกระดาษ ก็ฟังดูสมเหตุสมผลไม่หยอก กระทั่งการมาถึงของ IoT หรือ Internet of Things ในหมู่เครื่องมือแพทย์กับ HIS ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป



Internet of Things (IoT) หมายถึงเครือข่ายรวมของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อถึงกัน และเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์กับระบบคลาวด์ ไปจนถึงระหว่างอุปกรณ์ด้วยกันเอง


ต่อจากด้านบน เมื่อเจ้าหน้าที่วัดสัญญาณชีพแล้ว แทนที่จะต้องจดด้วยมือลงบันทึก อุปกรณ์วัดจะส่งข้อมูลไปยังฐาน ก่อนจะส่งเข้าสู่ระบบ HIS ที่เราใช้งานอยู่โดยอัตโนมัติ จากนั้นระบบจะทำการดึงข้อมูลขึ้นแสดงตามจุดต่างๆตามที่ร้องขอหรือตั้งค่าไว้ เช่น ฟอร์มปรอทแบบดิจิตัล (ซึ่งมักมีกราฟให้ดูหลากหลาย), หน้าบันทึกการพยาบาล, ไปจนถึง progress note ของแพทย์ 


สังเกตได้ว่า...

ทุกอย่างเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างถูกต้อง


สำหรับคนตัวเล็กตัวน้อยหน้างานแล้ว งานเบ็ดเตล็ดอย่างการลอกซ้ำสัญญาณชีพ 4-5 ครั้งได้หายไป 


ที่จริงยังไม่มีงานวิจัยในไทยนะคะ ว่าเราได้เวลาคืนมามากน้อยแค่ไหน แต่กระบวนการลอกซ้ำ ซึ่งประกอบด้วยการจดลงกระดาษส่วนตัว การจัดทำแบบบันทึก การลอกลงแบบบันทึก การพล็อตกราฟ การตรวจทาน ฯลฯ ฟังผ่านๆเหมือนง่าย แต่แท้จริงแล้วกินเวลาไม่น้อยเลยค่ะ สมมติว่าในวอร์ดมีผู้ป่วย 40 ราย หากใช้เวลารายละ 3 นาทีโดยเฉลี่ย (นับเวลาที่เสียไปทั้งหมด) ก็นับเป็น 120 นาที ที่เราสามารถใช้ไปกับงานอื่นๆได้


ไม่ธรรมดาเลยค่ะ


ยังไม่นับหน้างานที่แตกต่างจากวอร์ดและต้องการความรวดเร็วแม่นยำสูง ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่จำกัด อย่างห้องผ่าตัด หรือห้องฉุกเฉิน ระยะเวลา 3 นาทีนั้น เกินกว่ากำหนดเวลาตรวจของผู้ป่วยวิกฤติตามกฎหมายเสียอีกค่ะ


อันที่จริงงานลอกซ้ำสัญญาณชีพ มีความสำคัญ เหมาะสม และจำเป็นต้องทำในยุคสมัยกระดาษนะคะ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เรามีเทคโนโลยีระดับสูงที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น กระบวนการทำงานย่อมต้องปรับเปลี่ยน และพัฒนาต่อไป


อันที่จริง หากมองจากมุมผู้บริหารแล้ว การได้เวลาคืนมาจากคนตัวเล็กตัวน้อยในหลักนาทีหรือชั่วโมง แม้น่าสนใจ แต่ยังไม่ใช่ประโยชน์สูงสุดของ IoT นะคะ เรามามองให้ลึกต่อไปอีกสักนิดค่ะ



ในกระบวนการลอกซ้ำสัญญาณชีพ หากสงสัยว่าเกิดการลอกผิด เราจะทำอย่างไร


แน่นอนว่า เราจะย้อนไปดูปลายเตียงค่ะ ว่าตรงกันไหม


แต่เคยคิดไหมว่า หากลอกผิดสองจุดแต่ต้น หรือลอกผิดที่ปลายเตียงซึ่งเป็นจุดใช้ทวนสอบ แล้วอันไหนถูกอันไหนผิดกันแน่?


โชคดีที่การวัดสัญญาณชีพ ไม่ใช่กิจกรรมที่เจ็บปวดอะไร สามารถทำซ้ำได้ตลอดเวลา ที่ผ่านมาจึง “มัก” ไม่เกิดปัญหาอะไร แต่หากวันหนึ่งมันเกิดสำคัญขึ้นมา ชนิดที่ต้องได้ข้อมูลของจุดเวลานั้น วัดซ้ำก็แทนกันไม่ได้


เช่นนั้นจะทำอย่างไร? 


หลายครั้ง ความเสี่ยงที่ดูเหมือนเล็กๆน้อยๆนี้ สัมพันธ์(และเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณา)กับกรณีเคสความเสี่ยงระดับ G, H, I ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงระดับสูงสุด  


Human is to err

มนุษย์ไม่สามารถทำงานสมบูรณ์แบบได้ตลอดไป


ในยุคสมัยที่ทุกอย่างบันทึกลงกระดาษด้วยมือคน เราทำได้เพียงปิดจุดเสี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งนำไปสู่ปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นวงจรที่ส่งให้ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสี่ยงสูงขึ้นเช่นกัน 


การมาถึงของ IoT ปิดจุดอ่อนนี้อย่างชะงัด


ไม่เพียงวงการแพทย์เท่านั้น แต่วงการการบิน วงการวิศวกรรม และอีกหลายวงการที่ต้องการความละเอียดรอบคอบสูง สัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์จำนวนมาก ต่างเริ่มหาทางออกของปัญหาความเสี่ยงที่เกิดจากมนุษย์ หรือ Human Error ให้อยู่หมัด และ IoT กลับเป็นคำตอบหนึ่งที่พวกเขาตามหา



อันที่จริง แม้ “ความเสี่ยง” หรือ “ข้อผิดพลาด” จากมนุษย์จะฟังดูแสลงหูไปบ้าง แต่หากเรายอมรับว่ามนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิต มีเหนื่อยล้ามีอ่อนไหวมีพลาดพลั้ง ไม่อาจสมบูรณ์แบบตลอดไป แต่เพราะสิ่งนี้จึงทำให้เราทำเรื่องยิ่งใหญ่ ที่เครื่องจักรไม่อาจทำได้ การมาถึงของเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเข้ามาแทนที่การทำงานบางจุด ย่อมเป็นการปิดจุดอ่อน ลดเวลาทำงานซ้ำ และเปิดโอกาสให้เราสร้างสรรค์ผลงานที่ทรงคุณค่ามากขึ้นได้ 


สำหรับหน้างานแล้ว IoT ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น ถูกต้องมากขึ้น ใช้เวลาน้อยลง มีประสิทธิภาพมาก

สำหรับผู้บริหาร ย่อมลดความเสี่ยง human error พร้อมเพิ่ม productivity ในด้านต่างๆ

และสำหรับผู้รับบริการ หรือผู้ป่วยซึ่งเป็นคนสำคัญที่สุดในกระบวน ย่อมได้รับการบริการที่ถูกต้องเหมาะสม พัฒนามากขึ้นนั่นเอง


สำหรับบุคลากรที่สนใจ Cortex Hospital ระบบ HIS ฟังก์ชันครบสำหรับโรงพยาบาล ลดภาระบุคลากร จัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย Cortex Hospital สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.hlabconsulting.com/cortex-hospital


นอกจากนี้ H Lab ยังมี IPD Paperless โซลูชันสำหรับจัดการ IPD ลดกระดาษ ลดภาระงาน ให้การจัดการ IPD เป็ฯเรื่องง่ายสำหรับทุกคน สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและขอรับตัวอย่างได้ที่ : https://www.hlabconsulting.com/ipdpaperless

ดู 70 ครั้ง

Comments


bottom of page