เคยรู้สึกไหมคะว่า ทำไมย้ายที่ทำงานจากต่างจังหวัดเข้ากรุงมา มันถึงได้มีช่วงเวลาที่ทั้งเครียดทั้งเศร้าอยากกลับบ้านเราขนาดนี้ หรือแม้ท่านใดเป็นคนกรุงอยู่เดิมก็ตามที หลายครั้งเรายังมีความรู้สึกอยากหนีจากเมืองใหญ่ไป
ไม่ได้คิดไปเอง ความรู้สึกดังกล่าวเป็นจริงค่ะ
จำนวนผู้ป่วยโรคสายจิตเวช ตั้งแต่โรคเครียด โรคซึมเศร้า ไปจนโรคจิตเภท ไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ในชั้นแรก นักวิจัยคาดการณ์ว่า อาจสัมพันธ์กับสภาพสังคมการทำงาน ที่ชวนให้เครียด หดหู่ แข่งขัน หรือแม้แต่เมืองใหญ่ทำให้เราเห็นภาพกว้าง ว่าฐานะทางสังคมของแต่ละชนชั้นต่างกันเพียงใด ทั้งหมดเป็นปัจจัยกระตุ้นให้สุขภาพจิตสุขภาพใจของคนในเมืองทิ้งดิ่งลง
แน่นอนว่า มีงานวิจัยสายนี้ออกมาหลายชิ้นทีเดียวค่ะ
อย่างไรก็ดี สามสิบกว่าปีให้หลังมานี้ เราค้นพบว่า ไม่เพียงปัจจัยด้านเศรษฐกิจสังคม ซึ่งอาจเรียกได้ว่า "ยากจะบริหารจัดการ" เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยชนิดจับต้องได้ อย่างภูมิทัศน์และสถาปัตยกรรม ที่อาจมีบทบาทสำคัญ ซึ่งสำหรับภาครัฐ อาจนับว่า "บริหารจัดการง่ายกว่า" ผสมอยู่ด้วยค่ะ
สุขภาพจิตกับเมืองจะสัมพันธ์กันยังไง เรามาไขข้อสงสัยพร้อม ๆ กันในบทความนี้ค่ะ
ตึกระฟ้ากับราวตากผ้านอกระเบียง
หากถามว่าภาพจำของกรุงเทพฯคืออะไร คงมีทั้งท่านที่ตอบว่า ตึกสูงใหญ่เสียดฟ้า และท่านที่ตอบว่า ห้องชุดจำนวนมากราวกับรังของมดงาน
เมืองใหญ่ทั่วโลกก็ไม่แตกต่าง
หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก็ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป จากบ้านเดี่ยวพื้นราบพักอาศัย สู่ห้องชุดซ้อนกันไปมา ที่ยิ่งมายิ่งซับซ้อนและมีจำนวนชั้นรวมถึงผู้พักอาศัยมากขึ้นเรื่อยๆ
นั่นเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตยุคหลัง
งานวิจัยหลายชิ้นรวมถึงระดับ meta-analysis พบว่า ลักษณะห้องชุดพักอาศัย สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับปัญหาสุขภาพจิต(1) โดยสัมพันธ์กับทั้งจำนวนชั้นของห้องพัก เช่น ยิ่งชั้นสูง สุขภาพจิตยิ่งแย่กว่า, ความกว้างของพัก ยิ่งเล็กยิ่งก่อให้เกิดปัญหา, และรวมไปถึงปัจจัยแวดล้อม อย่างระดับเศรษฐสถานะของเพื่อนบ้าน ความปลอดภัยของที่พักอาศัยโดยรวม
แม้งานวิจัยจะบ่งชี้ออกมาเช่นนั้น แต่ทิศทางคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯรวมถึงเมืองใหญ่ทั่วโลกในปัจจุบัน ต่างมุ่งไปยังตึกที่ยิ่งมายิ่งสูง ห้องพักที่ยิ่งมายิ่งแคบลงเรื่อยๆ
ห้องชุดสตูดิโอในกรุงเทพฯ อาจเล็กลงไปถึง 22 ตร.ม. และอาจมีจำนวนชั้นที่มากถึง 40 ชั้นขึ้นไป นำไปสู่สภาพสังคมภายใน ที่เกิดปัญหาแย่งใช้ส่วนกลาง เช่น ลิฟต์ขึ้นลง, ที่จอดรถ, ห้องขยะ ฯลฯ หรือนำไปสู่ความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยจากเพื่อนบ้าน และการบริหารจัดการความขัดแย้งโดยนิติบุคคลที่ไม่ทั่วถึง
หลายปีหลังมานี้ คอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ไม่นิยมทำหน้าต่างใหญ่นัก
"ทำหน้าต่างใหญ่ไม่ได้หรอก"
อดีตพนักงานบริษัทอสังหาริมทรัพย์ให้ข้อมูล
"คนจะโดดลงไป...ลงไปแน่ๆ"
วันนี้แม้แต่ราวตากผ้า ยังมีขนาดเล็กจ้อยเพียงพอเฉพาะราวติดผนังเท่านั้น
กระบองเพชรนอกหน้าต่าง
หนึ่งในกิจกรรมสำคัญของคนกรุงวัยทำงาน ที่อาศัยในห้องชุดขนาดเล็กจำนวนมาก ได้แก่
"การเลี้ยงกระบอกเพชรสักต้น"
ปรากฏการณ์นี้แม้จะดูน่าแปลกหากมองผ่านๆ แต่ไม่ถือว่าผิดคาด เมื่อมองผ่านเลนส์วิทยาศาสตร์และงานวิจัย
ในปี 1989 Rachel และ Stephen Kaplan เสนอทฤษฎี Attention Restoration Theory (ART) ขึ้น หลายทศวรรษจากนั้น มีงานวิจัยอีกหลายชิ้นตามติดมา แตกแขนงออกไปอีกหลายด้าน แต่แก่นหลักของทฤษฎี กล่าวถึงความสำคัญของ "การชมธรรมชาติ" ที่สามารถฟื้นฟูสภาพจิตของมนุษย์ (สภาพจิตในที่นี้ หมายถึง ความสามารถในการจดจ่อ-ตั้งสมาธิ หรือ Attention ในภาษาอังกฤษ)
งานวิจัยที่สัมพันธ์กับทฤษฎีดังกล่าว ช่วยยืนยันสมมติฐานที่ว่า ธรรมชาติมีผลต่อสุขภาพจิตของมนุษย์ และไม่แปลกที่มนุษย์ จะโหยหาธรรมชาติ หลายปีให้หลัง ทฤษฎีนี้นำไปสู่งานวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่สีเขียว, การวางผังเมือง, และสุขภาพจิตคนเมืองในเวลาต่อมา
ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า พื้นที่สีเขียวแทบจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ปัจจัยบวก ที่อาจพบหรือจัดให้มีขึ้นในเมืองขนาดใหญ่ได้
พื้นที่สีเขียวดังกล่าว หมายรวมตั้งแต่ระดับสวนสาธารณะ หรือพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ ที่ผู้คนเข้าไปทำกิจกรรมได้ นำไปสู่ปรากฎการณ์ ART แถมด้วยการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้ผู้คนที่เข้ามาใช้บริการ ไปจนถึงระดับหญ้างอก กระบองเพชรข้างหน้าต่าง ที่เจ้าของเฝ้ามองเป็นประจำ กระทั่งสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงกระจ้อยร่อย นำไปสู่ ART ในระดับเล็กแต่เกิดเป็นประจำซ้ำๆ
ทั้งหมดนำไปสู่ข้อสรุปที่ตรงกัน พื้นที่สีเขียวในเมือง ถือเป็นปัจจัยบวกสำคัญ ต่อสุขภาพจิตและการใช้ชีวิตของคนเมือง
สุขภาพจิตกับชีวิตในเมืองใหญ่
สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ยังคงชักนำผู้คนเข้าสู่เมืองใหญ่ไม่ขาดสาย ขณะที่กรุงเทพฯยังคงระดับประชากรแฝงหลักสิบกว่าล้าน หัวเมืองขนาดใหญ่ตามภูมิภาค ก็เริ่มเกิดปรากฏการณ์คอนโดมิเนียมผุดราวดอกเห็ดขึ้นเช่นกัน บ่งถึงสภาพความเป็นเมือง หรือ Urbanization ที่ขยายพื้นที่มากขึ้นทุกที
แท้จริงแล้ว สุขภาพจิตของคนเมือง ไม่เพียงขึ้นกับบริบทส่วนตนเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์อย่างแนบแน่น กับภาพใหญ่ระดับโครงสร้าง ซึ่งสามารถกำหนดทิศทางด้วยการออกกฎหมายและระเบียบปฏิบัติได้
ขณะนี้ปัญหาสุขภาพจิตค่อยๆไต่ระดับขึ้น ตามสภาพความเป็นเมืองที่คืบคลานออกไป ทว่าระดับความระแวดระวัง การเตรียมการของทุกภาคส่วนในไทย ยังไม่อาจเรียกได้ว่าพร้อมนักก็ตามที
reference
1.Barros P, Fat LN, Garcia LMT, et al. Social consequences and mental health outcomes of living in high-rise residential buildings and the influence of planning, urban design and architectural decisions: A systematic review. Cities. 2019;93:263-272. doi:10.1016/j.cities.2019.05.015
2.Callaghan A, McCombe G, Harrold A, et al. The impact of green spaces on mental health in urban settings: a scoping review. J Ment Heal. 2021;30(2):179-193. doi:10.1080/09638237.2020.1755027
3.1.Larcombe DL, Etten E van, Logan A, Prescott SL, Horwitz P. High-Rise Apartments and Urban Mental Health—Historical and Contemporary Views. Challenges. 2019;10(2):34. doi:10.3390/challe10020034
Comments