top of page
  • Apichaya Sukprasert

สิ่งที่พยาบาลต้องเลือก Productivity หรือ Work-Life Balance



ในเวรควรมีคนทำงานกี่คน


สำหรับคนนอกหรือแม้แต่วิชาชีพอื่น เราอาจเดาว่า เขาคงคำนวณจากจำนวนผู้ป่วยเป็นแน่

เรื่องนี้ไม่ผิดนัก ในทฤษฎีการพยาบาล มีมาตรฐานอัตราส่วนจำนวนพยาบาลต่อผู้ป่วยอยู่ เช่น ICU อัตราส่วนควรเป็น 1:1 เป็นต้น มีผู้ป่วย 5 คน ก็ต้องมีพยาบาล 5 คนตาม


แต่ในไทย วิธีคิดแบบนี้ทำได้ยาก เพราะจำกัดด้วยจำนวนพยาบาล ที่หน่วยงานนั้นๆมีอยู่


“พี่มี RN(พยาบาลวิชาชีพ)อยู่ 10 คน วอร์ดพี่มีคนไข้ 30 คนบวกๆ อัตราส่วน 1:5 มันจะเป็นไปได้ไงคะหมอ!!”

ศูนย์คุณภาพไหนไปถาม เห็นทีจะโดนไล่ค่ะ


โดยสรุปแล้วในไทย ไม่สามารถใช้มาตรฐานอัตราส่วนพยาบาลต่อคนไข้มาจับได้ แต่ละหน่วยงาน ต่างจัดคนขึ้นเวรเท่าที่พอจะทำงานกันผ่านไปได้ ตำแหน่งไหนควรมี ตำแหน่งไหนลดได้ มีคนให้หมุนใช้เท่าไหร่ กลายเป็นปัจจัยสำคัญแทนมาตรฐานอัตราส่วน


อดคิดไม่ได้ว่า หรือที่จริงเราอยู่ในภาวะขาดแคลนพยาบาล อย่างร้ายกาจและรุนแรงกว่าที่เคยเข้าใจ



อัตรากำลังกับภาระงาน


คำถามถัดมา แล้วหน่วยงานหนึ่งๆ ควรมีคนเท่าไหร่

ต้องทำงานหนักแค่ไหน จึงจะได้คนเพิ่มบ้าง


เรื่องนี้เกี่ยวพันกับสิ่งที่เรียกว่า %productivity หรือ ผลิตภาพทางการพยาบาล

ซึ่งคำนวณจากจำนวนชั่วโมงที่ผู้ป่วยใช้ หารด้วยจำนวนชั่วโมงที่พยาบาลขึ้นเวร คูณหนึ่งร้อย


คิดภาพตามแบบคร่าวๆว่า พยาบาลคนหนึ่งๆขึ้นเวร ใช้เวลาไปกับการทำงานจริงๆอยู่ที่ร้อยละเท่าไหร่ ซึ่งสภาการพยาบาลกำหนดไว้ที่ 90-110%


ตัวเลข 90-110% สำหรับคนนอกอย่างเราแล้ว น่าสะพรึงกลัวมากนะคะ เพราะถ้าเราทำงาน 110% ของชั่วโมงการทำงาน แล้วการพักกินอาหาร หรือไปเข้าห้องน้ำ มันอยู่ตรงไหนของเวลาทำงานกันเนี่ย อย่างนี้ท้องเสียไม่ได้นะ!!


“หมอคะ 90-110% มันเด็กๆค่ะ ของพี่ 120% อย่างน้อย แต่เรายังแพ้วอร์ด X นะคะ รายนั้น 180% ค่ะ”

พี่พยาบาลที่ไปสัมภาษณ์สำทับความน่ากลัว


%productivity เหล่านี้ เป็นตัวบอกว่าในเวรหนึ่งๆงานหนักไปแล้วหรือไม่ เราควรดึงคนขึ้นเวรเพิ่มแล้วใช่ไหม นำไปสู่การขอคนเพิ่มเพื่อให้บริหารเวรที่มากขึ้นได้ในที่สุด


อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่ทุกหน่วยงานต่างขาดแคลน หน่วยงานที่ %productivity สูงกว่า 110% ไม่มากนัก อาจกลายเป็นลำดับหลังๆของการพิจารณาไป แม้ว่าพวกเขาจะทำงานกันหนักมากแล้วก็ตาม



%productivity คำนวณอย่างไร


อย่างที่เล่าไป จำนวนชั่วโมงที่ผู้ป่วยใช้ หารด้วยจำนวนชั่วโมงที่พยาบาลขึ้นเวร คูณร้อยค่ะ

แต่เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าผู้ป่วยใช้กี่ชั่วโมงกันแน่ เพราะผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน ย่อมใช้ไม่เท่ากัน จึงมีงานวิจัยทางการพยาบาลจำนวนมากออกมาตอบสนองปัญหานี้


มีตั้งแต่สูตรคำนวณยากๆ ใส่ตัวแปรต่างๆคิดออกมา ไปจนวิธีพื้นฐาน อย่างการวัดว่าหัตถการต่างๆใช้เวลาเท่าไหร่ จากนั้นตอนท้ายเวรก็คูณไป ว่าเราทำอะไรไปกี่ครั้ง รวมเป็นกี่ชั่วโมงกัน


สังเกตได้ว่า แต่ละหน่วยงาน แต่ละโรงพยาบาล มีรูปแบบการคำนวณที่หลากหลาย แตกต่างกันไป


ยังไม่นับว่าบางหน่วยงาน การนับเวลาการทำงานอาจยากจนไม่สามารถตอบโจทย์ได้

ห้องฉุกเฉิน คนไข้มาเร็วไปไว แต่มีหัตถการที่เร่งเร้าจำนวนมาก

เยี่ยมบ้าน คนไข้น้อย ใช้เวลาเดินทางมาก หัตถการไม่ยากแต่พื้นที่ไม่เอื้ออำนวย

ยังไม่รวมงานเอกสารที่ยุ่งยากแต่อาจไม่ถูกนำมาคิดรวม


นำไปสู่การคำนวณผลิตภาพการทำงานที่อาจไม่ยุติธรรมนัก



แม้ % productivity จะช่วยชี้ให้เราเห็นแล้วว่า เราทำงานหนักกันมากขนาดไหน ผู้บริหารควรเพิ่ม หรือจัดอัตรากำลังอย่างไรบ้าง


แต่ในเมื่อคนมีจำกัด คนเก่าลาออกไป น้องพยาบาลใหม่มีไม่มาก การขอคนยิ่งมายิ่งยากขึ้นทุกที

หลายแห่ง %productivity ไปถึง 180% แล้ว แต่ยังหาคนไม่ได้เลย


เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของโรงพยาบาลแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น การขออัตรากำลังไม่เพียงออกจากหน่วยงานไปยังกลุ่มการพยาบาลเท่านั้น แต่ยังต้องสะท้อนไปถึงส่วนกลาง ทั้งระดับจังหวัด ระดับเขต ไปถึงระดับประเทศ ที่เป็นต้นทางของการกระจายคนทั้งหมด


และข้อมูลผลิตภาพทางการพยาบาลทั้งหมด ทุกจุด ทุกหน่วยงาน ทุกโรงพยาบาล ทุกเขตสุขภาพ สมควรได้รับการวิเคราะห์อย่างเป็นรูปธรรม


ก็หวังว่าพี่น้องพยาบาลของพวกเรา จะได้รับการดูแลแก้ไข ให้มี work-life balance ที่ดีขึ้นในเร็ววัน ให้สมกับที่พวกเขาทุ่มเทดูแลประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วยเสมอมานะคะ


ดู 1,877 ครั้ง

Comments


bottom of page