การส่งต่อไร้รอยต่อ เป็นหนึ่งในนโยบายที่เจ้ากระทรวงท่านใหม่ รมต.สมศักดิ์ เทพสุทิน เน้นย้ำ
อันที่จริงคำว่า "ไร้รอยต่อ" หรือ "seamless" ถูกใช้กับส่วนต่างๆในวงการแพทย์มานานแล้ว ในต่างประเทศมีการให้นิยามคำนี้ แต่ยังไม่ค่อยเป็นเนื้อเดียวกันนัก โดยรวมหมายความถึงการส่งต่อผู้ป่วย จากสถานพยาบาลหนึ่งไปอีกสถานพยาบาลหนึ่งอย่างลื่นไหล ไม่สะดุด ประหนึ่งเป็นสถานพยาบาลเดียวกัน
โดยนัยยะ จึงมีแง่มุมของ customer experience (ประสบการณ์ของผู้บริโภค) ร่วมอยู่ด้วย
ดังนั้นเพื่อจะเข้าใจนโยบายนี้ เราลองสวมหมวกเป็นผู้บริโภคกันดูค่ะ
เส้นทางการส่งต่อ กับรอยต่อระหว่างทาง
คุณสมทรง มีปัญหาปวดข้อผมร่วงเรื้อรัง บุตรชายจึงพาไปรพ.จังหวัด ก่อนจะพบเป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง แพทย์แนะนำให้ไปขอใบส่งตัวจากรพ.ต้นสังกัด แต่เมื่อไปถึง คุณสมทรงไม่ทราบจะแจ้งแพทย์ว่าตนเองเป็นอะไร บอกได้แค่เขาให้มาขอใบส่งตัว
คุณสมศักดิ์ รถชนสลบไปชั่วครู่ แพทย์ที่รพ.ชุมชนตัดสินใจส่งตัวไปทำแสกนสมอง แต่ระหว่างทาง ความดันตกตัวซีด พยาบาลรีเฟอไม่กล้าติดต่อแพทย์ปลายทาง ส่วนแพทย์ต้นทางพยายามสั่งการรักษา แต่ทำได้จำกัด
สองกรณีนี้ เกิดขึ้นบนสถานการณ์ที่แตกต่าง ไม่ฉุกเฉิน และ ฉุกเฉิน
1.การส่งต่อผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน
มักเกิดในกรณีผู้ป่วยโรคเรื้อรังซับซ้อน ที่ต้องการการตรวจพิเศษหรือรักษากับแพทย์เฉพาะทาง ที่สูงกว่ารพ.ต้นทางจะทำได้ และในทางกลับกัน กรณีรพ.ปลายทางรักษาแล้วส่งเคสกลับรพ.ต้นทาง
การสื่อสารขอข้อมูลและส่งต่อสิทธิ์ ดั้งเดิมมักทำผ่านจดหมายส่งตัวหรือใบบันทึกข้อความ และให้ผู้ป่วยหรือญาติเดินเรื่องด้วยตนเอง
รอยต่อระหว่างทาง จึงเกิดจากการส่งสาส์น ที่ต้นทางไปไม่ถึงปลายทาง หรือเกิดความผิดพลาดในระหว่างนั้น
2.การส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน
กรณีผู้ป่วยหนักส่งต่อทันที การสื่อสารมักทำผ่านศูนย์ส่งตัวฯ (ศูนย์รีเฟอฯ)โดยบุคลากรทางการแพทย์ บางครั้งแพทย์ส่งเวรตรงกับแพทย์ พยาบาลส่งต่อตรงกับพยาบาล ในด้านการส่งสาส์น จึงรัดกุมชัดเจนกว่ารูปแบบแรก
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยหนักมักอาการไม่คงที่ ต้องการการตรวจรักษาระหว่างนั้น รอยต่อระหว่างทาง จึงถ่างกว้างในระหว่างการเดินทางส่งตัว
จะเห็นได้ว่าการส่งต่ออย่าง "ไร้รอยต่อ" เกี่ยวพันกับหลากหลายมิติการจัดการ
รอยต่อข้อมูล
ขณะนี้เราก้าวสู่ยุค HIS อย่างเป็นทางการแล้วนะคะ ทุกโรงพยาบาลมีขาเข้าของข้อมูลสู่ระบบสารสนเทศไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
นั่นหมายถึง โดยทฤษฎีแล้ว เราสามารถเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วยสู่ทุกโรงพยาบาลได้เช่นกัน
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขพยายามอย่างยิ่งที่จะเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยบริการ ให้สามารถเชื่อมโยงถ่ายโอนข้อมูลถึงกัน เพื่อประโยชน์ในการรักษา และในแง่สถิติ ทว่ากลับพบอุปสรรคที่บางอย่าง
1.ความเข้ากันของระบบจัดเก็บข้อมูล
แต่ละโรงพยาบาลใช้ HIS แตกต่างกัน ระบบหลังบ้านย่อมแตกต่างกัน และหลายครั้ง(หรือจริงๆคือส่วนใหญ่) ระบบเหล่านั้นไม่รองรับการเชื่อมต่อเข้ากับระบบที่ต่างจากตน ด้วยเหตุผลทางเทคนิกหรือด้านพาณิชย์ก็ตามที ทำให้จนบัดนี้การเชื่อมต่อข้อมูลเป็นไปอย่างยากลำบาก
อย่างไรก็ตาม การเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างต่าง HIS ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้นะคะ แท้จริงแล้วระบบหลังบ้านของ HIS หลายเจ้า รวมถึง HLAB ของเรา ปรับให้รองรับการเชื่อมต่อกับระบบที่แตกต่าง รวมถึงแอพพลิเคชันต่างๆที่ภาพรัฐอาจเสริมเข้ามาได้ในอนาคตด้วยค่ะ
นั่นทำให้ปัจจัยในการเลือกซื้อ HIS ในอนาคต ไม่เพียงหน้าตาผลิตภัณฑ์ แต่ยังต้องมองถึงเรื่องการเชื่อมต่อหลังบ้านร่วมด้วย
2.ระบบการจัดการข้อมูลกลาง
เมื่อ HIS ของแต่ละโรงพยาบาล สามารถเชื่อมต่อกับระบบที่แตกต่าง เสมือนบ้านยอมเปิดประตูบ้านแล้ว ส่วนกลางก็ย่อมต้องทำถนนเพื่อให้แต่ละบ้านสัญจรไปมาได้ ฉันใดก็ฉันนั้น
เคยมีการพูดถึง government cloud หรือคลาวด์กลางภาครัฐ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดก่อน จากนั้นมีการพัฒนาระบบดังกล่าวมาเป็นลำดับ ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงดิจิตัล เปิดตัว MOPH Cloud หวังเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านข้อมูลสุขภาพของประเทศ
นับเป็นก้าวสำคัญที่น่ายินดีนะคะ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามประสิทธิผลในระยะถัดไป
รอยต่อการดูแลรักษา
ในขณะที่ระบบสาธารณสุขเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โรงพยาบาลขยายขนาดและขีดความสามารถ รถรีเฟอกลับยังมีช่องว่าง ที่ต้องการเติมเต็มพัฒนา
ย้อนไปสมัยที่การสื่อสารระหว่างเดินทางทำได้ยาก แพทย์ต้นทางอาจสั่งการรักษาในลักษณะ "เผื่อไว้" กับทีมหน้างาน, ทีมโทรศัพท์หรือติดต่อกลับมาเมื่อถึงจุดมีสัญญาณ หรือแม้แต่จำต้องแวะรพ.ระหว่างทาง กรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันก็มี
เหล่านี้เกิดขึ้นจากปัญหาการสื่อสารระหว่างเดินทาง
ปัจจุบันหลายโรงพยาบาลนำ telemedicine เข้ามาประยุกต์ใช้ ติดตั้งอุปกรณ์สื่อสาร ทั้งภาพ เสียง ตำแหน่ง เข้ามาจับ นำไปสู่การสั่งการรักษาจากแพทย์แบบเรียลไทม์ รวมไปถึงกระตุ้นเตือนปลายทางให้พร้อมรับเมื่อตำแหน่งของรถรีเฟอใกล้เข้ามา
แม้นโยบายการส่อต่อไร้รอยต่อ จะยังไม่มีรายละเอียดภาคปฏิบัติออกมาชัดเจนนักในขณะนี้ แต่คะเนจากรากเหง้าปัญหาที่มี บ่งชี้ถึงรอยต่อข้อมูลระหว่างสถานพยาบาล และรอยต่อการรักษาพยาบาลระหว่างการส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งอาจแก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่กำลังรุดไปข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นส่วนสำคัญ แต่เทคโนโลยีอย่างเดียวนั้นไม่อาจปิดช่องว่างดังกล่าวได้
รอยต่อข้อมูลแม้เชื่อมกันได้ด้วยระบบหลังบ้าน แต่คุณภาพเนื้อหายังขึ้นกับผู้เริ่มกระบวนการ รอยต่อการรักษาพยาบาล ยังต้องมีระบบแพทย์อำนวยการและทีมที่เข้มแข็งระหว่างส่งต่อ
แต่อย่างน้อยที่สุด การมาถึงของเทคโนโลยี ย่อมช่วยให้รอยต่อนี้เล็กลงได้อย่างแน่นอน
コメント