ระยะหลังมานี้ วงการแพทย์เริ่มมีแนวคิด “ทำบ้านเป็นหอผู้ป่วย” กันมากขึ้น
ที่จริงแนวคิดนี้ยังไม่แพร่หลายถึงกับเป็นนโยบาย หรือมาตรฐานบริหารจัดการใด ๆ แต่แพทย์หลายท่านจากหลายวงการเริ่มเห็นตรงกันว่า “อาจมีที่ใช้” มากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
ก่อนที่ Home Ward (อาจ)จะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในอนาคต เราจะมาคุยประเด็นนี้ถึงแนวคิด ความหมายและการจัดการ Home Ward ในปัจจุบันกันสักหน่อยค่ะ
—
Home Isolation สู่แนวคิด Home Ward
ช่วง COVID จำนวนเตียงในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามไม่เพียงพอ จึงเกิดแนวคิด home isolation ขึ้น เน้นให้ผู้ป่วยกักตัวและรับการรักษาอยู่ที่บ้าน หากไม่ดีให้มาตรวจซ้ำ
บางเขตพื้นที่ ได้พัฒนา home isolation ขึ้นไปอีกขั้น โดยจัดระบบการดูแลเพิ่มเติม เช่น จัดระบบขนส่งอาหาร, จัดระบบสอบถามอาการ และบันทึกระดับค่าออกซิเจนทางโทรศัพท์, วางช่องทางติดต่อสื่อสาร เพื่อให้คนไข้ปรึกษาปัญหาต่างๆได้ ฯลฯ
ในตอนท้าย การดูแลผู้ป่วย home isolation จึงพัฒนาถึงจุดที่มีการบริหารจัดการคล้ายหอผู้ป่วย ผิดไปจากเดิมแค่ว่า ผู้ป่วยยังคงอาศัยอยู่ในบ้าน และข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณชีพ หรือการสอบถามอาการ ได้ผ่านโทรศัพท์หรือวิดีโอคอลล์
home isolation ทำให้โรงพยาบาลขนาดเล็กที่มีบุคลากรไม่มาก สามารถบริหารจัดการผู้ป่วยจำนวนมากกว่าที่ตนจะรับไหว และผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติมาได้
มีข้อมูลที่น่าสนใจจากเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ระยะแรกผู้ป่วยไม่ยินดีที่จะทำ home isolation นัก เนื่องด้วยกังวลใจว่า อาการจะแย่ลงแล้วไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ สอดคล้องกับพฤติกรรมการขอรับบริการในช่วงเวลาปกติ ที่มักขอนอนโรงพยาบาลเนื่องจากเกรงจะแย่ลง ฯลฯ อย่างไรก็ดี ในเขตพื้นที่ดังกล่าว ได้วางระบบ home isolation คล้ายหอผู้ป่วย มีการราวด์ประจำวันทางโทรศัพท์ มีช่องทางปรึกษาและขอความช่วยเหลือ ในระยะต่อมาเมื่อระบบนิ่งและมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งผ่านกระบวนการนี้แล้ว ผู้ป่วยใหม่ส่วนใหญ่กลับยินดีที่จะ home isolation หรือถึงขั้นไม่ยินดีนอนโรงพยาบาลเนื่องจากอยู่บ้านสะดวกกว่า
เหตุการณ์ดังกล่าวนี้จุดประกายให้หลายโรงพยาบาล มองระบบ home isolation หรือ(เรียกให้ถูกว่า) home ward เป็นช่องทางบริหารจัดการทรัพยากร และทางออกของปัญหาเตียงล้นเตียงเต็มในอนาคต
อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้ยังไปไม่ถึงจุดที่เป็นนโยบายหรือมีการเขียนแนวปฏิบัตินะคะ คำเรียกของแต่ละโรงพยาบาลจึงยังอาจแตกต่างกันอยู่
—
Home Ward เหมาะกับคนไข้กลุ่มไหนและทำอะไรได้บ้าง
มาถึงจุดนี้ ขอยกตัวอย่างผู้ป่วย 2 กลุ่มที่น่าสนใจค่ะ
1.ตั้งแต่ก่อนยุค COVID-19 มีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการดูแลในลักษณะ home ward อยู่เดิม นั่นคือผู้ป่วยระยะสุดท้าย
เมื่อผู้ป่วยระยะสุดท้าย ประสงค์ขอเตรียมตัวเสียชีวิตที่บ้าน แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้าน และเตรียมการดูแลผู้ป่วยที่บ้านในวาระสุดท้าย
การดูแลมักประกอบด้วย การให้ยาแก้ปวด ตั้งแต่แบบแปะผิว, แบบยาน้ำป้อนประจำ, ไปจนแบบฉีดอัตโนมัติที่ให้ผู้ป่วยกดเมื่อปวดเป็นครั้งๆไป การทำแผล การดูแลด้านอาหาร การดูแลด้านการหายใจ ซึ่งมีตั้งแต่ออกซิเจนหนวดกุ้ง(canular) ไปจนถึงเครื่องอัดอากาศ(BiPAP) หรือแม้แต่การเตรียมพร้อมด้านจิตใจ
หลังกลับถึงบ้าน ทีมเยี่ยมบ้านจะลงพื้นที่ ตรวจเช็กการดูแลว่าทำได้ถูกต้องหรือไม่ได้ และมีสิ่งใดควรปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างไม่ทุกข์ทรมาน
จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยกลุ่มเฉพาะ แม้มีความซับซ้อนของการดูแลรักษา แต่ก็สามารถจัดการให้เกิด home ward ขึ้นได้ หากเป้าหมายมีความชัดเจน และมีระบบจัดการรองรับ
2.
ย้อนกลับมาที่ผู้ป่วยกลุ่มทั่วไปบ้างค่ะ
ลองจินตนการว่า เรากินชาบูหมูกระทะ แล้วท้องเสีย การไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชน, โรงพยาบาลชุมชน, โรงพยาบาลจังหวัด และโรงเรียนแพทย์ อาจให้ปลายทางสุดท้าย (Disposition) แตกต่างกัน
โรงพยาบาลเอกชนมักแอดมิท โรงพยาบาลชุมชนหากเราเริ่มมีภาวะขาดน้ำก็มีแนวโน้มแอดมิทเช่นกัน โรงพยาบาลจังหวัด ขึ้นกับสภาพ ณ ขณะนั้น หากเตียงแน่นมาก ก็อาจให้น้ำเกลือเร็วๆแล้วนัดมาได้ ส่วนโรงเรียนแพทย์เคสล้นเตียงทะลัก ถึงอาการหนักก็อาจอยู่ห้องฉุกเฉินให้น้ำเกลือฉีดยายาวๆกันไป ไม่มีโอกาสได้แอดมิทอย่างแน่นอน
จะเห็นได้ว่า บางกรณี การรักษามีได้หลากหลาย ตั้งแต่แอดมิทง่ายไปจนแอดมิทยาก
ถ่ายเหลวท้องเสีย จุดหลักคือให้น้ำเกลือให้ทัน จึงมีทางเลือกตั้งแต่ให้เบาๆแต่ยาวๆ ซึ่งจำต้องนอนโรงพยาบาล ไปจนให้หนักๆแต่ใช้เวลาไม่นาน ก็ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลก็ได้
ปัญหาคือการติดตามอาการหลังจากนั้น ว่าจะเปลี่ยนแปลงดีขึ้นแย่ลงอย่างไร จะนัดมาดีไหม(แต่ไม่สะดวก เพลียก็อยากพัก) หรือถ้ามีอะไรค่อยมา(แต่คนไข้จะรู้ไหมว่าแบบนี้อาการไม่ดี) เรื่องติดตามอาการนี้ จึงกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องตัดสินใจ
จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยโรคไม่ซับซ้อน แต่ก้ำกึ่งนอนโรงพยาบาล อาจบริหารจัดการให้กลับบ้านได้ โดยเน้นการรักษาช่วงแรกที่ห้องฉุกเฉิน และการติดตามอาการที่บ้านตามระบบ home ward
ผู้ป่วยสองกลุ่มนี้ ดูผ่านๆไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน แต่แท้จริงแล้ว คือสองกลุ่มที่เป็นสุดของสองด้าน ด้านต้นที่อาการไม่มากแต่ต้องการรักษาบางอย่าง และด้านปลายที่สุดทางการรักษาไปแล้ว หากบริหารจัดการให้ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มอยู่บ้าน แต่ยังคงได้รับการรักษาตามความเหมาะสมได้ ย่อมจะเปิดเตียงและทรัพยากรในโรงพยาบาล ให้แก่ผู้ป่วยกลุ่มกลาง ที่การรักษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องการการนอนโรงพยาบาล จำเป็นอย่างยิ่งต่อผลการรักษา
—
Home Ward ในยุคสมัยใหม่
กิจกรรมสำคัญของ home ward ประกอบไปด้วย
1.การสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่
การสื่อสารทางโทรศัพท์ อาจตอบโจทย์เรื่องซักถามอาการ แต่ยังขาดข้อมูลจากการสังเกตอาการ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้จากการเห็นภาพตรงหน้าเท่านั้น เทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ที่แม้แต่ผู้สูงอายุยังสามารถวิดิโอคอลล์ได้ง่ายๆ เปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์ ใช้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสาร สามารถเห็นอากัปกิริยา เห็นอาการแสดงต่างๆผ่านการราวด์แบบ online ได้
ระบบดังกล่าวนี้ อาจเรียกเป็น Telemedicine รูปแบบหนึ่ง และสำหรับพื้นที่ห่างไกล หรือผู้ป่วยที่ไม่สะดวกใช้เทคโนโลยีจริงๆ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล อาจมีบทบาทมากขึ้นในฐานะ node สำหรับให้ผู้ป่วยมาติดตามอาการ
2.การวัดสัญญาณชีพ
ปัจจุบันการวัดสัญญาณชีพมักมาพร้อมกับ Intertnet of Things ที่ส่งข้อมูลสัญญาณชีพเข้าระบบส่วนกลาง บางครั้งระบบอาจคำนวณคะแนน early warning signs ต่างๆ ก่อนจะแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ
ระบบนี้หากนำมาปรับใช้กับ home ward อาจช่วยทั้งลดภาระงาน และเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูลสัญญาณชีพจากบ้าน
3.การทำกิจกรรมที่สัมพันธ์กับการรักษาพยาบาลที่บ้านด้วยผู้ป่วยหรือญาติ
กิจกรรมที่อนุญาตให้ทำที่บ้าน เช่น การทำแผล การให้อาหาร ญาติหรือตัวผู้ป่วยมักได้รับการฝึกฝนในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เทคโนโลยีอาจช่วยในเรื่องตรวจสอบคุณภาพการทำกิจกรรม หรือแก้ข้อสงสัยเมื่อผู้ป่วยหรือญาติต้องการสอบถาม
นอกจากนี้กิจกรรมบางอย่าง เช่น การติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือการให้ยาผ่านหลอดเลือดชนิดที่อยู่บ้านได้ ตัวเครื่องยังอาจส่งข้อมูลไปกลับกับส่วนกลาง ทำให้กิจกรรมเหล่านี้ มีความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้แพทย์ได้ข้อมูลการตรวจจากผู้ป่วยในสภาพปกติที่สุด ที่กำลังประกอบกิจกรรมประจำวันที่บ้าน
—
แม้ในปัจจุบัน home ward จะยังไม่ใช่นโยบายแน่ชัด แต่เป็นหัวข้อที่เริ่มมีการทดลองใช้ในหลายๆโรงพยาบาล เมื่อสังคมผู้สูงอายุคืบคลานเข้ามา บุคลากรทางการแพทย์มีจำนวนไม่เท่าทันกับผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น การกระจายผู้ป่วยกลับบ้านให้ได้มากขึ้น โดยยังคุณภาพการรักษาไว้ จึงกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายระบบบริการสุขภาพของไทยในขณะนี้ค่ะ
Comments