ปัจจุบันมลพิษทางอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดในภาคเหนือโดยรอบยังคงอยู่ในระดับอันตราย (พีคที่สุดคือติด Top เมืองที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลก!) เรื่องนี้คงเป็นที่รู้กันดีโดยทั่ว
โดยเฉพาะประจักษ์พยานที่ชัดที่สุด คือสถิติการรักษาตัวของผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจในภาคเหนือที่สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนวงการวิชาการต่าง ๆ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดถึง 40 ราย! หนึ่งในนั้นคืออาจารย์แพทย์อนาคตไกล และอาจารย์ภาคประวัติศาสตร์ที่มีคุนูปการต่อวงการประวัติศาสตร์ไทยเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ข่าวใหญ่ที่สร้างความฉงน ไปจนถึงความไม่พอใจจากภาคประชาชนท่ามกลางฝุ่นควันที่ยังคละคลุ้ง คงหนีไม่พ้นการที่ท่านนายกฯ ยืนยัน “ไม่ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ” เนื่องด้วยกังวลจะกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
การ “ไม่ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ” ในสถานการณ์เช่นนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบอะไรบ้าง เรามาวิเคราะห์ไปพร้อมกันค่ะ
——
วงการสาธารณสุขจะมองแต่ด้านสุขภาพไม่ได้
ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งหนึ่งภาครัฐเคยวางแผนจะเปิดประเทศก่อนเวลา เพื่อนำแรงงานจำนวนมากเข้าสู่ระบบการผลิตอีกครั้ง นโยบายครั้งนั้นล้มเลิกไปเสียก่อนได้เดินหน้า เนื่องด้วยการระบาดระลอกใหม่
อย่างไรก็ดี ในวงสนทนาของผู้เกี่ยวข้อง หลายกระแสมองว่า สาธารณสุขโลกแคบและมองแต่แง่สุขภาพมากเกินไป
เขียนเช่นนี้อาจทำให้ท่านผู้อ่าน(ซึ่งน่าจะเป็นชาวโรงพยาบาล)ขุ่นเคืองใจ แต่ลองใจเย็นๆก่อนค่ะ
การระบาดครั้งนั้นทิ้งรอยแผลใหญ่ไว้ให้คนไทย ไม่เพียงการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รัก แต่ยังฉุดรั้งเศรษฐกิจทั้งระดับมหภาคและจุลภาคให้ดิ่งลงเหวกันถ้วนหน้า จากรายงานของ IMF พบว่า GDP ของไทยในปี 2020 ปีที่เกิดโควิดตกลงกว่า 6.1% ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นเสาหลักหนึ่งของ GDP ไทย ได้รับผลกระทบจากการระบาดโดยตรง
ไม่เพียงเท่านั้นหากมองระดับครัวเรือน หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของเราก็พุ่งจาก 79.4% ที่ปลายปี 2019 สู่ 90.9% ในปี 2023 ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงที่สุด
ตัวเลขเหล่านี้สำหรับชาวโรงพยาบาลอาจไม่คุ้นกันนัก (แต่เราคุ้นกับค่างวด และหนี้ตัดหน้าซองเงินเดือน) แต่โดยเนื้อแท้ มันคือตัวเลขที่บ่งชี้ว่า รัฐนาวาของเรานั้น กำลังดำเนินต่อไปในน่านน้ำอย่างทุลักทุเลเพียงไร
หลายครั้งที่ฝ่ายสาธารณสุขเห็นต่างกับฝ่ายเศรษฐกิจอย่างช่วยไม่ได้ นั่นอาจเพราะเรามองต่างมุมกัน แม้มีจุดมุ่งหมายเพื่อความผาสุขของประชาชนเหมือนกันก็ตามที
ทว่า...เราจะเห็นต่างกันเช่นนั้นทุกครั้งไปจริงหรือไม่
——
มองสุขภาพในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจได้หรือไม่
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและไทยก็ไม่ใช่ที่แรก ที่ฝ่ายเน้นสุขภาพเห็นต่างกับฝ่ายเน้นเศรษฐกิจในเรื่องมลพิษ นำไปสู่การศึกษาถึงผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพ ในรูปของตัวเงินที่ส่งผลทางเศรษฐกิจหลายชิ้น
การศึกษาในยุโรปรายงานว่า การจัดการมลพิษทางอากาศอาจเรียกคืนได้ถึง 400,000 life-year โดยประมาณ คิดเป็นมูลค่า 31,000 ล้านยูโรต่อปี นอกจากนี้มลพิษยังสัมพันธ์กับอาการเจ็บป่วยทางเดินหายใจและหลอดเลือด ซึ่งคิดเป็นมูลค่าสูงสุดถึง 790,000 ล้านยูโรเลยทีเดียว
ทั้งนี้จำนวนดังกล่าวเป็นมูลค่ารวมนะคะ บทความก็หารต่อคนมาให้เรา คิดเป็น 191-397 ยูโร/คน/ปี จะเห็นได้ว่าไม่ใช่น้อยๆเลยค่ะ
โดยมูลค่าที่เขาวัดมา วัดจากมูลค่าของเศรษฐกิจที่เสียไปกับค่าใช้จ่ายส่วนตัวเพื่อป้องกันอันตรายจากมลพิษ, การรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น, และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่คนคนหนึ่งอาจสร้างขึ้นหากยังมีสุขภาพดีและดำรงชีวิตต่อไป
ย้อนกลับมาที่เรื่องของเมืองเชียงใหม่ การจะบอกว่าไทยอยู่ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ จะประกาศเขตภัยพิบัติปิดเมืองนั้นทำไม่ได้ ก็ต้องมองย้อนไปว่า แล้วหากปล่อยชาวเชียงใหม่รวมถึงชาวเหนือโดยรอบ สูดดมมลพิษกันต่อไป มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เสียไปกับสุขภาพ จะมากหรือน้อยกว่ารายได้ที่ได้จากการไม่ปิดเมืองกันแน่
อย่างไรก็ดี สูตรการคำนวณเหล่านี้ขึ้นกับแต่ละประเทศตีมูลค่าชีวิตประชากรของตนต่อปีเป็นเท่าไหร่ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าชีวิตของชาวไทยถูกกว่าการศึกษาในข้างต้น จนตัดสินใจไม่ปิดเมืองนั่นเอง
——
ทางออกร่วมกันของเศรษฐกิจและสาธารณสุข
จะเห็นได้ว่า แม้มาตรการทางสาธารณสุข เช่น การกักตัวในช่วงโควิด-19 หรือ การประกาศเขตภัยพิบัติกรณีมลพิษทางอากาศ ย่อมทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ประมาณการเป็นตัวเงินได้ชัดเจน แต่ปัญหาทางสุขภาพดังกล่าวเองก็มีมูลค่าทางเศรษฐกิจแอบซ่อนไว้ เป็นตัวเงินมหาศาลเช่นเดียวกัน
หากมองอย่างผิวเผิน แนวคิดทางเศรษฐกิจกับแนวคิดทางสาธารณสุขคล้ายย้อนแย้งกัน แต่หากมองกลับไปด้วยแนวคิดที่พอจะเข้าใจกันได้ สาธารณสุขลองตีค่าความเสียหายเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจตีค่าความเสียหายเป็นอัตราตายหรืออัตราทุพพลภาพ ทุกฝ่ายมองภาพเดียวกันคือคุณภาพชีวิตของประชาชน ย่อมหาทางออก ที่แม้ไม่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย แต่ดีที่สุดที่เป็นไปได้
ปัญหามลพิษทางอากาศของภาคเหนือ ยิ่งนานวัน ยิ่งแย่ลงในทุกปีที่ผ่านไป เราไม่เพียงเสียสุขภาพ แต่ยังมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เสียไป ยังไม่นับผลกระทบที่ไม่อาจประมาณได้ อย่างคุณภาพประชาชนรุ่นที่กำลังเติบโตขึ้นมา
ปัจจุบันข่าวต่างๆมาแล้วก็ไปอย่างรวดเร็ว ข่าวเรื่องมลพิษทางอากาศก็เริ่มจะเบาบางลงแล้วเช่นกัน แต่ความจริงผู้คนยังคงใช้ชีวิตทุกวัน และหายใจในทุกๆนาทีที่ผ่านไป ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณภาพชีวิตของคนไทยจะดีขึ้นในเร็ววัน
reference
Franchini M, Mannucci PM, Harari S, Pontoni F, Croci E. The Health and Economic Burden of Air Pollution. Am J Med. 2015;128(9):931–2.
Comments