top of page
  • Apichaya Sukprasert

คุยเล่นประเด็นร้อน : ความมั่นคงกับการรับราชการ

ณ ขณะที่เขียนอยู่นี้ กำลังมีประเด็นเรื่องการผลิตแพทย์และพยาบาลเข้ามาในความสนใจ เราทราบกันมานานแล้วว่า บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน สร้างมาแล้วออกไป การผลิตไม่ใช่ไม่พอใช้ แต่ปัญหากลับเป็นการคงอยู่ในระบบราชการเสียมากกว่า


ปัจจัยหนึ่งที่ยึดเหนี่ยวไม่ให้บุคลากรลาออก คือ ตำแหน่งข้าราชการ


สมัยก่อนน้องพยาบาลที่สนิทกัน ได้ตำแหน่งข้าราชการหลังรอยาวนานมา 6 ปี วันที่รับคำสั่งแต่งตั้ง คุณพ่อน้องถึงกับจัดงานเลี้ยงเล็กๆ และทำบุญครอบครัวเลยค่ะ และไม่ใช่แค่ครอบครัวนี้เท่านั้น แต่อีกหลายๆครอบครัวก็เช่นกัน ตำแหน่งข้าราชการยังคงเป็นความมั่นคง ความมั่นใจ และความภาคภูมิใจของครอบครัวเสมอ


มาพูดอย่างนี้ ไม่ใช่จะเกริ่นว่าข้าราชการไม่ดีหรืออย่างไรนะคะ

ต้องยอมรับว่างานราชการที่เป็น “ข้าราชการ” แล้วนั้น มีความมั่นคงสูง นายจ้างเป็นภาครัฐ ไม่อาจล้มด้วยพิษเศรษฐกิจได้โดยง่าย ขณะเดียวกัน หากไม่ประพฤติผิดร้ายแรงชนิดติดตะราง ใครจะกลั่นแกล้งลดเงินเดือนไล่ออก ก็ไม่อาจทำได้ เรียกว่าสบายๆ อยู่ได้จนเกษียณอย่างมั่นใจนั่นเอง


นี่ก็ยังเป็นความจริงจนบัดนี้ค่ะ


แต่เรื่องน่ากลัวที่คนไม่ค่อยทราบ คือเดี๋ยวนี้เขาให้ตำแหน่งข้าราชการกันยากมากๆ


เดิมทีบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าระบบใช้ทุน ล้วนได้ตำแหน่งข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร ถือเป็นสาขาขาดแคลน อย่างไรก็ดี หลายปีให้หลังนี้ เหลือเพียงแพทย์ที่ยังได้ตำแหน่งข้าราชการอย่างกระท่อนกระแท่น และมีข่าวหนาหูว่าอาจปลดทิ้ง ให้ตำแหน่งต่อเมื่อแพทย์ใช้ทุนครบเรียนเฉพาะทางจบกลับมาแล้วเท่านั้น (ยังไม่แน่ชัดนะคะ) 


ยิ่งไปกว่านั้น สายงานบางสาย ยังมีปัญหาการได้มาซึ่งตำแหน่งข้าราชการ

นักฉุกเฉินการแพทย์ (paramedics) ปฏิบัติการหลักที่หน่วยการแพทย์ฉุกเฉินและห้องฉุกเฉิน แนวหน้าทะลวงฟันของวงการ เป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่มีปัญหาข้าราชการ ด้วยว่าระเบียบราชการไม่มีสาขา “นักฉุกเฉินการแพทย์” เขียนระบุไว้!!


แน่นอนว่าระเบียบเขียนก่อนที่ประเทศเราจะมีนักฉุกเฉินการแพทย์ค่ะ


นั่นทำให้การบรรจุนักฉุกเฉินการแพทย์พบปัญหามาตลอด ถึงขั้นมีไม่กี่คนในประเทศเท่านั้นที่บรรจุได้ แถมบรรจุด้วยตำแหน่งอื่นๆเทียบเคียง ทั้งที่นักฉุกเฉินการแพทย์ เป็นแนวหน้าครั้งการระบาดโควิด ใครไม่กล้า ใครกลัวติด ก็เป็นสาขานี้ที่กล้าเข้าถึงคนไข้ก่อนใคร 


หลังการระบาดโควิด มีการประกาศตำแหน่งข้าราชการจำนวนมาก เพื่อปูนบำเหน็จแกเจ้าหน้าที่หน้างานที่ยังไม่ได้ตำแหน่งข้าราชการ 


ทว่า ไม่มีตำแหน่งนี้สำหรับขุนพลแนวหน้าอย่างนักฉุกเฉินการแพทย์ มีเพียงคำหวานปลอบประโลมใจ


ท้ายสุด เกิดการไหลออกของนักฉุกเฉินการแพทย์ในที่สุด



“จะไปจริงๆเหรอ”

“…”

“อยู่ด้วยกันก่อนไหม ถึงจะยังไม่ได้ตำแหน่งข้าราชการตอนนี้ แต่เดี๋ยวรอบหน้าก็มี เงินเดือนน้อยกว่าเอกชนก็จริง แต่สวัสดิการก็ไม่แย่นะ”

“แต่นี่เป็นปีสุดท้าย ที่หนูจะได้บำนาญแล้วนะหมอ”

“…”




สำหรับคนทั่วไปแล้ว ตำแหน่งข้าราชการมอบความมั่นคงให้ใน 2 ลักษณะ

1.ความมั่นคงทางอาชีพการงาน

อย่างที่เล่าไปข้างต้น รัฐไม่อาจล้มจากพิษเศรษฐกิจได้โดยง่าย และไม่อาจปลดข้าราชการออกได้ หากไม่มีเหตุร้ายแรง เรื่องนี้เข้าใจไม่ยาก


2.ความมั่นคงทางการเงิน

โดยเฉพาะความมั่นคงหลังเกษียณจากการทำงาน หนีไม่พ้นเงินบำนาญ ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบที่น่าสนใจที่สุด

ข้าราชการปัจจุบัน ต้องเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และมี “อายุราชการ” ครบ 25 ปี จึงจะสามารถเลือกรับบำนาญได้


จุดนี้น่าสนใจมากค่ะ


บุคลากรทางการแพทย์ปัจจุบัน ประสบปัญหารอตำแหน่งข้าราชการนาน พยาบาลอาจรอถึง 7 ปี (เท่าที่ทราบ) ขณะที่หากเปลี่ยนระบบแล้ว แพทย์อาจรอถึง 6 ปีหลังจบการศึกษา นั่นทำให้พยาบาลอาจได้เป็นข้าราชการที่อายุ 29 ปี ส่วนแพทย์ที่อายุ 30 ปี


พวกเขาจะมีอายุราชการครบ 25 ปี ที่อายุ 54-55 ปี ซึ่งนับว่าสูงอายุกว่าสมัยเก่ามาก


นอกจากนี้การคำนวณเงินบำนาญ คำนวณจากค่าเฉลี่ยเงินเดือนช่วงท้ายๆ ทวีค่าด้วยปัจจัยด้านอายุงาน 

นั่นทำให้คนกลุ่มนี้ ทั้งถึงเกณฑ์บำนาญช้ากว่า ทั้งได้เงินบำนาญน้อยกว่าข้าราชการในยุคก่อนๆมาก โดยที่เงินเดือนข้าราชการซึ่งใช้เป็นฐานคำนวณนั้น ขึ้นน้อยมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา 


นั่นอาจทำให้มูลค่าของตำแหน่ง “ข้าราชการ” ดูด้อยลงไปจากสมัยก่อน


ยังไม่นับบางสาขาอาชีพ ที่ยังมีปัญหาการบรรจุ หรือบุคลากรบางท่าน ย้ายสายงานจากการเรียนต่อ อาจมีคุณสมบัติครบจนได้บรรจุไม่ทันอายุ 35 ปี ทำให้อายุราชการไม่อาจขึ้นถึง 25 ปี และกลายเป็นจุดแตกหักของการตัดสินใจทำงานราชการ



บุคลากรทางการแพทย์ ยังคงเป็นสาขาขาดแคลนทั่วโลก


แม้ไทยเราจะประกาศว่า ไม่ขาดแคลน แต่ก็ไม่เพียงพอ แท้จริงก็คือขาดแคลน


ในยุคที่โลกเชื่อมถึงกันหมด ตัวเลือกการทำงานสูงขึ้นมาก พยาบาลจำนวนมากเริ่มหาทางย้ายงานไปสู่ประเทศที่ให้ทั้งผลตอบแทนและ work life balance ที่ดีกว่า ในขณะที่แพทย์เริ่มมองหางานนอก ไปจนถึงอาชีพใหม่นอกกรอบเดิม


เคยมีบุคลากรทางการแพทย์ขอคำปรึกษา เรื่องการลาออกจากราชการ


หัวข้อเงินบำนาญถูกยกขึ้นมาพิจารณาอย่างลึกซึ้ง


มีแพทย์ท่านหนึ่งให้ความเห็นน่าสนใจค่ะ เขาบอกว่าข้าราชการนั้น “ถึงได้เงินเดือนน้อย แต่จะได้เงินบำนาญด้วย นั่นแปลว่ารายได้จริงสูงกว่าตัวเลขที่เห็น”


ความหมายคือ หากคนทั่วไปต้องการมีเงินใช้หลังเกษียณรายเดือน ซึ่งคล้ายกับเงินบำนาญ ต้องเอารายได้ที่ตนทำได้ในปัจจุบันส่วนหนึ่งไปเก็บออมลงทุน ในขณะที่ข้าราชการไม่ต้องกังวลกับเรื่องออมมาก หากทำตามเกณฑ์ อยู่ครบอายุ ย่อมได้เงินบำนาญ โดยไม่ต้องตัดรายได้ในปัจจุบันออกไปออม**


ยกตัวอย่างเช่น

คนทั่วไป รายได้ 100 เก็บ 10 เป็นเงินหลังเกษียณ

ข้าราชการ รายได้ 100 ได้เงินบำนาญหลังเกษียณเดือนละ 10 คิดย้อนกลับมา รายได้ย่อมเท่ากับ 110 นั่นเองค่ะ

(ไม่คิดเงินเฟ้อ ไม่คิดผลตอบแทนจากการลงทุน)


ประเด็นสำคัญ เมื่อเราคิดมากขึ้นอีกชั้นหนึ่ง หากงานใหม่ให้รายได้ที่มากพอ มากจนเอาส่วนต่างของรายได้ไปลงทุน แล้วได้กลับเป็นเงินใช้หลังเกษียณที่มากกว่าบำนาญจากภาครัฐได้ นั่นย่อมเป็นจุดตัดที่เราจะใช้ เพื่อพิจารณาลาออกจากราชการ


ที่เขียนเช่นนี้ไม่ได้สนับสนุนให้คนลาออกจากราชการนะคะ แต่อยากชี้ให้เห็นว่า แนวคิดสมัยก่อนที่มองว่า ราชการมั่นคงถาวร แม้เกษียณไปแล้วยังมีบำนาญกินใช้ อาชีพอื่นเอกชนทำไม่ได้ อย่างไรๆคนก็จะอยากรับราชการ 


มันอาจไม่จริงเสมอไปแล้ว



ขณะนี้ผู้คนยังมองว่า อาชีพราชการน่าสนใจอยู่มาก เพราะนอกจากความมั่นคงด้านต่างๆ ยังมีเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาล ไปจนความภูมิใจของบ้าน การนับหน้าถือตา


นั่นอาจทำให้ผู้มีอำนาจชะล่าใจว่า แม้มีคนลาออกอยู่บ้าง แต่เติมคนใหม่ลงไปให้ทัน ปัญหาย่อมจบไป


ทว่า...สถานการณ์อาจไม่เป็นเช่นนี้ตลอด


เมื่อผู้คนมีทางเลือกมากขึ้น มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการชีวิตตัวเองมากขึ้น ซ้ำตำแหน่งข้าราชการยังรอนาน ได้ยาก ผลตอบแทนไม่มากดังอดีตอีกต่อไป ภาระงานมากขึ้น ความดนดันสูงขึ้น ความคาดหวังมากมาย 


จุดตัดสินใจที่พาผู้คนออกจากระบบไป อาจมาถึงง่ายกว่าที่เคยเป็นมา


ป.ล. งานโรงพยาบาลรัฐ หนักก็จริง เหนื่อยก็จริง แต่คนจำนวนมากยังชอบมากกว่า เพราะรู้สึกว่าตนได้ทำสิ่งสูงค่าแก่ประชาชน อย่าให้ปัจจัยรอบด้านมากัดกินจนเขาถอดใจเลยนะคะ

**ตามเกณฑ์ ข้าราชการต้องส่งเงินเข้า กบข. เท่ากับต้องมีเงินออมส่วนหนึ่ง การคำนวณบำนาญยังเน้นคำนวณจากเงินเดือนอยู่ค่ะ


ดู 25 ครั้ง

Comentários


bottom of page