ถ้าพูดถึงปัญหาในโรงพยาบาล ทุกคนคงคิดถึงภาระงาน ที่ไม่สมดุลกับอัตรากำลังของบุคลากรกันใช่ไหม
แต่ที่จริงแล้วมีอีกปัญหาใหญ่ ที่สัมพันธ์กันไปกับปัญหาอัตรากำลังและภาระงานอย่างแนบแน่น นั่นคือปัญหา “การจัดตารางเวร” นั่นเองค่ะ!
สำหรับคนนอกวงการ หรือแม้แต่สาขาที่เวรค่อนข้างจะจัดง่ายกว่าชาวบ้านอย่างหมอ
เราอาจเข้าใจเค้าอย่างผิวเผินเท่านั้นนะคะ
ทั้งที่พยาบาลอาจเป็นบุคลากรที่มีมากที่สุดในโรงพยาบาล แต่ปัญหาการจัดตารางเวรพยาบาลกลับไม่เป็นที่เข้าใจ สนใจ หรือพยายามหาทางแก้ไขอย่างจริงจังเท่าที่ควร
เรามาลองย้อนรอยปัญหากันดูค่ะ
(*หัวหน้าพยาบาลในบทความนี้ หมายถึงหัวหน้าหอผู้ป่วย)
—
-ความซับซ้อนของตารางเวร-
ตารางเวรพยาบาลไม่ใช่แค่จับชื่อใส่ในช่องว่าง แต่พยาบาลแต่ละหอผู้ป่วย แต่ละส่วนงาน จะมีตำแหน่งแยกย่อยลงไปเป็นขั้นๆ
เช่น
หอผู้ป่วยอายุรกรรม ในเวรหนึ่งๆ มีพยาบาลตำแหน่งอินชาร์ตเป็นหัวหน้าเวร ทำหน้าที่จ่ายงาน ดูแลการบริหารภาพใหญ่ ตำแหน่งลีดเดอร์เป็นหัวหน้ากลุ่มย่อย ดูแลเอกสารและจ่ายงานภายในกลุ่มเดียวกัน และมีพยาบาลเมมเบอร์เป็นสมาชิกเวรที่ดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก
จากตำแหน่งที่ว่ามานั้น การจัดเวรจำต้องแบ่งพยาบาลออกเป็นกลุ่มๆตามอาวุโสหรือความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน เพื่อจ่ายงานให้ถูกต้องตามระดับ หรือที่เรียกกันในวงการว่า “Competency” ให้ได้
ยิ่งไปกว่านั้นยังอาจมีรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ยาบางตัวมีพยาบาลเพียงบางคนที่เคยเข้าอบรมจึงให้ได้ หรือหอผู้ป่วยบางแห่ง ต้องการให้ในเวรมีพยาบาลคละเพศทั้งหญิงชาย ทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ต้องนำมาคิดร่วมกัน
หมอเองเคยเห็นตารางก่อนจัดเวร(ไม่ใช่ตารางเวรนะคะ)ของพี่หัวหน้าพยาบาล แกทั้งแบ่งจำนวนปีที่ทำงาน จำนวนการอบรมที่เคยผ่าน ไปจนถึงรายละเอียดอย่าง คนนี้ควงเวรมาก่อนหน้า ต้องมีคนที่สดกว่ามาประกบ (มีแบบนี้ด้วย!) เรียกได้ว่าหลากหลายมากค่ะ
โดยสรุปแล้ว แม้จะเป็นวิชาชีพเดียวกัน หรือแม้แต่อายุงานเท่ากัน ก็ยังมี Competency ต่างกัน กลายเป็นอีกปัจจัยหลักของการจัดเวร
ทว่าการจัดเวร ยังไม่จบแค่นี้นะคะ
เพราะเรายังไม่เข้าช่วง “ขอเว-ขอเวร” กันเลยค่ะ
—
-ขอเวและขอเวร-
ก่อนจัดตารางเวร หัวหน้าพยาบาลจะเปิดให้ชาวคณะลงชื่อขอเวและขอเวรกันค่ะ
การขอเว(เคชั่น) หรือขอออฟ คือการขอวันหยุด(ซึ่งเท่ากับเสาอาทิตย์ของอาชีพอื่น)ของฉันเป็นวันไหน สำหรับคนอาชีพอื่นๆแล้ว การขอลาฟังดูปกติ ไม่นับเป็นอะไร
แต่ไม่ใช่กับวงการพยาบาลแน่นอนค่ะ
สำหรับการจัดเวรแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะปล่อยตำแหน่งหนึ่งๆให้ว่าง เพียงเพราะคนที่ competency ถึงนั้นขอเวไว้ หัวหน้าพยาบาลจะทำทุกวิถีทาง เพื่อหาคนลงให้ครบทุกตำแหน่งทุกเวรให้ได้ มิฉะนั้นหากปล่อยว่างๆไป ย่อมนำไปสู่ภาระงานเกินปกติ และความเสี่ยงต่อการดูแลคนไข้ นั่นคือฝันร้ายของหัวหน้าพยาบาล
การขอเวของพยาบาล จึงมักให้เขียนเหตุผลกำกับ ขอเวไปเที่ยว เวพาแม่ไปรักษาตัว เวไปกีฬาสีลูก หรือไปทำอะไร ทั้งยังมีการนับด้วยว่าใคร ขอเวไปเท่าไหร่แล้วได้ไปกี่ครั้งแล้ว
อันที่จริงเคยคุยกับหัวหน้าพยาบาลหลายท่าน ส่วนใหญ่อยากให้ทุกคนได้เวตามที่ต้องการนะคะ
ลำพังทำงานเป็นเวรก็ใช้ชีวิตลำบากแล้ว หากเวตามต้องการไม่ได้ คงยิ่งเศร้าไปกันใหญ่ หลายครอบครัวเสียเวลากินข้าวช่วงเย็นกับคุณแม่ที่เป็นพยาบาลไป ก็ควรได้วันพักผ่อนร่วมกันเป็นการตอบแทน
ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากขอเวแล้ว ยังมีขอเวรอีกในบางครั้ง
ค่าเวรของพยาบาลแต่ละเวรไม่เท่ากัน เวรบ่ายเวรดึกจะมีระเบียบเบิกจ่ายครอบอีกฉบับ ทำให้ได้เงินเสริมอีกเล็กน้อย
วงการพยาบาลไม่เพียงเป็นสถานที่ทำงาน แต่อยู่กันแบบครอบครัวจริงๆ(ที่ไม่ใช่กาสะลองซ้องปีบ)ด้วย
หัวหน้าพยาบาลมักล่วงรู้ปัญหาการเงินของน้องในปกครอง บางครั้งจึงเปิดโอกาสให้น้องลงชื่อขอเวรเพิ่มเติม หรือลากยาวไปถึงอนุญาตให้ซื้อขายเวรระหว่างกัน กลายเป็นอีกเงื่อนไขประกอบการจัดตาราง ที่มีทั้งขอเวและขอเวร
ในชีวิตจริง การจัดตารางเวรให้คนหลายสิบคน โดยที่แต่ละคนมีเงื่อนไขในชีวิตแตกต่างกัน มันยากมากนะคะ ถึงขั้นส่งหัวหน้าพยาบาลบางท่าน มานอนฉีดยาแก้ปวดหัวที่ห้องฉุกเฉินเลยทีเดียว (เรื่องจริงค่ะ)
—
อ่านถึงจุดนี้ หลายท่านคงพอมองภาพต่อไปออกแล้ว
หอผู้ป่วยบางแห่งเมื่อหาคนไม่ได้ จำต้องบังคับคนที่เพิ่งลงเวร ให้กลับมาควงเวรขึ้นเวรใหม่
บางแห่งจำต้องลดมาตรฐาน ลดเงื่อนไข Competency พยาบาลที่ตั้งไว้
นำไปสู่ปัญหาคุณภาพการรักษาพยาบาล
มองกลับมาในมุมผู้ปฏิบัติงาน พยาบาลหลายคนถูกบังคับควงเวร ถูกปฏิเสธวันออฟ กระทบชีวิตครอบครัวจนสั่นคลอน การทำงานที่เคยรักและภาคภูมิ เริ่มเปลี่ยนไปทีละน้อย
สุดท้ายลาออกอย่างหมดใจ
เหตุการณ์เหล่านี้ เป็นรากเหง้าของปัญหาใหญ่ที่สุด อย่างการไหลออกของบุคลากร
—
กระนั้นแล้ว มีวิธีใดสามารถบรรเทาปัญหาดังกล่าวลงไปได้บ้าง
เมื่อมองภาพกว้าง เราจะพบจุดน่าสนใจจุดหนึ่ง
การจัดตารางเวรไม่ใช่กิจกรรมการพยาบาล แต่เป็น “กระบวนการทางคณิตศาสตร์”
ที่หาความเป็นไปได้ (ตารางเวร)
ในการจัดตัวแปรต่างๆ (คนขึ้นเวร)
บนเงื่อนไขพื้นฐาน (เวร, ตำแหน่ง, Competency)
โดยให้บรรลุเงื่อนไขรองเท่าที่จะเป็นไปได้ (การขอเว-เวร)
การจัดตารางเวรจึงไม่ใช่ศาสตร์การพยาบาล และแม้หัวหน้าพยาบาลทุกท่านจะทำได้ดีมาก แต่การหาลู่ทางที่เหมาะสมมากกว่าในเชิงคณิตศาสตร์ ก็เป็นโอกาสในการพัฒนาที่น่าสนใจ
ปัจจุบันหลายๆประเทศ รวมถึงโรงพยาบาลบางแห่งในไทย เริ่มนำโปรแกรมการจัดเวรมาใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดเวรที่หนัก ซับซ้อน และเรื้อรังมายาวนาน
อันที่จริงเรื่องคณิตศาสตร์...(พูดในฐานะคนรพ.)...มันก็ไม่ใช่ทางของพวกเราสักเท่าไหร่ การนำเทคโนโลยีมาใช้ ให้มันทำงานแทนเรา แล้วเราถอยไปควบคุมตรวจสอบ ย่อมเป็นหนทางที่อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าก็ได้ แล้วยังดีต่อสุขภาพใจ ของทั้งคนจัดเวรและคนรับเวรด้วยค่ะ
—
นอกจากปัญหาที่เล่าไปแล้ว เมื่อสอบถามผู้ปฏิบัติงาน ยังได้คำตอบผิดคาดอีกเรื่อง
จริงอยู่ที่ปัญหาทั้งหมดเกิดจากคนขาด และการจัดเวรก็ซับซ้อนมาก อาจมีข้อผิดพลาดบ้างก็เป็นได้
แต่หลายครั้งน้องๆพยาบาลเกิดความคลางแคลงใจ ทำไมคนนั้นขอหยุดได้ ทำไมฉันไม่ได้ ปัญหาลุกลามจนผิดใจกัน
อย่างหนึ่งที่เทคโนโลยตอบโจทย์เราอย่างไม่คาดฝัน อาจเป็นเรื่องที่มันไม่ใช่มนุษย์ ย่อมหลุดจากคำครหาว่าเลือกที่รักมักที่ชัง
หลายโรงพยาบาลกลับมารักกัน เพราะสามารถเคลียร์ใจกัน ผ่านการใช้โปรแกรมที่เหมือนไร้จิตใจนี่เอง
พี่ๆหัวหน้าพยาบาลหลายท่านเคยกังวลนะคะ ว่าถ้าใช้โปรแกรมมาจัดเวรแล้ว จะไม่ยืดหยุ่น จะขาดความเป็นมนุษย์ ที่เข้าใจจิตใจพี่น้องในวงการเดียวกันไป แต่บางทีเทคโนโลยีที่เหมือนไร้ใจ ก็ทำให้เราโอบอุ้มความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ง่ายขึ้นค่ะ
Commentaires