top of page
Apichaya Sukprasert

ข่าวฆาตกรรมคนไข้กับประเด็นความปลอดภัยในโรงพยาบาล

ขณะที่เขียนบทความนี้ ข่าวผู้ป่วยเสียชีวิตจากการถูกคนร้ายบุกเข้ามายิงสังหารในโรงพยาบาลตอนกลางวันแสก ๆ กำลังเป็นข่าวอุกฉกรรจ์ที่ผู้คนให้ความสนใจและตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในโรงพยาบาล


ในฐานะเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวอย่างมาก และกรณีดังกล่าว เป็นจุดที่บุคลากรทางการแพทย์ไทยต้องกลับมาทบทวนถึง “ความปลอดภัยในโรงพยาบาล” อีกครั้ง


ย้อนคิดดูแล้ว แม้เราจะไม่เคยเจอเหตุรุนแรงเช่นนี้ แต่ไม่ใช่ไม่เคยเจอความเสี่ยงใด ๆ


ที่ผ่านมาโรงพยาบาลให้ความสำคัญกับคนไข้ และให้ความสนใจกับประเด็นการรักษาพยาบาลมากเมื่อกล่าวถึงความปลอดภัยก็มักเพ่งเล็งแต่เรื่องวิชาการ จนหลงลืมความปลอดภัยทางด้านอื่น ๆ ไป


วันนี้เราจะลองมาทบทวนเรื่องทั่วไปอย่างเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในโรงพยาบาล ว่าจะมีมาตรการรับมือ และป้องกันเหตุแบบนี้ได้อย่างไรกันค่ะ


--



เราลองแยกประเด็นออกเป็น คน-ของ-ระบบ กันก่อนค่ะ


"คน" บุคลากรรักษาความปลอดภัยในโรงพยาบาลไม่มีความชำนาญ


เขียนแบบนี้ไม่ได้ต้องการตำหนิพี่ๆรปภ.นะคะ


เดิมทีโรงพยาบาลรัฐมักว่าจ้างรปภ.ด้วยตนเอง จ้างแล้วก็อยู่กันนาน เกิดเป็นความผูกพัน และเกิดเป็นความชำนาญในการจัดการเรื่องที่เกี่ยวพันกับคนไข้ 


พี่ๆรปภ.โรงพยาบาลรัฐ ไม่กลัวเคสโรคระบาด รู้ว่าเมื่อไหร่ฉุกเฉินต้องรีบตามทีมงาน และมักให้คำแนะนำเรื่องทั่วไปในโรงพยาบาลได้ เหล่านี้ล้วนเป็นข้อดีค่ะ


แต่ข้อเสีย รปภ.ที่ขึ้นตรงกับโรงพยาบาล อาจไม่ได้มีระบบที่คอยพัฒนาความสามารถเฉพาะด้าน และอาจไม่มีการรับรองมาตรฐานสำหรับเหตุรักษาความปลอดภัย


เมื่อเกิดเหตุที่ต้องการการจัดการรักษาความปลอดภัยขั้นสูง เช่น เหตุกราดยิง เหตุภัยพิบัติอพยพด่วน เหตุความรุนแรงจากการใช้อาวุธ ฯลฯ ย่อมเกิดปัญหา


ปัจจุบัน หลายโรงพยาบาลตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้ outsource ว่าจ้างบริษัทเฉพาะทาง บางโรงพยาบาลที่ใหญ่หน่อย เปิดหน่วยงานเฉพาะด้าน หรืออาจทำเป็นบริษัทลูก ดำเนินงานประหนึ่งบริษัทรักษาความปลอดภัย 


ทว่าโรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่ ยังคงใช้ระบบเดิมอยู่


--



"ของ" การรักษาความปลอดภัยต้องการของอะไร


หากพูดถึงของ อาจมองถึงเครื่องตรวจอาวุธ หรือ กล้องวงจรปิด แต่ของสำคัญที่มีผลต่อการรักษาความปลอดภัยโดยตรง กลับเป็นสิ่งที่แก้ได้ยากอย่างแปลนของหน่วยบริการนั้นๆ


ห้องตรวจที่ไม่มีทางออกด้านหลัง

ห้องฉุกเฉินที่ไม่มีประตูกั้น

ทางเข้าด้านหลังที่ลับสายตา

เหล่านี้ส่งผลอย่างยิ่งต่อระบบรักษาความปลอดภัย


ปกติเมื่อโรงพยาบาลวางแผนสร้างตึก จะไม่สามารถออกแบบแปลนใหม่เองได้ จำต้องเลือกจากแบบที่มีอยู่แล้วของทางราชการ สมัยก่อนถือเป็นทางเลือกที่ไม่แย่นัก แต่เมื่อเวลาผ่านสถานการณ์เปลี่ยนไป หลายๆแปลนไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป หากนำมาใช้ย่อมเกิดเหตุเป็นธรรมดา 


นำมาสู่แปลนแปลกๆดังที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น


อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราทำได้ คงเป็นการหาทางออกให้แปลนที่เรามีอยู่ ติดประตู ติดระบบล็อก ต่อกล้องวงจรปิด หรือแม้แต่เพิ่มการตรวจก่อนเข้าพื้นที่ เพื่อความปลอดภัย



--


"ระบบ" รักษาความปลอดภัยกับสภาพจริงในโรงพยาบาล


เคยได้ยินคำถามวงการนางงาม security vs privacy ไหมคะ

การรักษาความปลอดภัย หลายครั้งต้องลุกล้ำความเป็นส่วนตัว เกิดเป็นความไม่พอใจของผู้เกี่ยวข้อง

เหตุการณ์ในโรงพยาบาลก็เช่นเกียวกันค่ะ ที่ผ่านมาโรงพยาบาลพยายามจัดระบบรักษาความปลอดภัย แบ่งคร่าวๆได้ 3 ลักษณะ


1.ยืนยันตัวบุคคล

ก่อนเข้าพื้นที่เฉพาะ หลายโรงพยาบาลกำหนดให้ยืนยันตัวบุคคลก่อน เช่น เข้าเขตห้องฉุกเฉิน ต้องแลกบัตรก่อน วิธีการนี้ช่วยยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวสัมพันธ์กับผู้ป่วยจริง และมีกิจต้องเข้าเขตจริง รวมถึงแม้ป้องกันเหตุรุนแรงไม่ได้โดยตรง แต่อาจช่วยในการตามจับ หรือยั้งให้ผู้ก่อเกตุเกิดฉุกคิดได้


2.จำกัดการเข้าถึง

โรงพยาบาลส่วนใหญ่จำกัดการเข้าเยี่ยม ทั้งในแง่ช่วงเวลาและจำนวนคนเยี่ยม แม้ดั้งเดิมอาจเป็นเหตุผลเรื่องการควบคุมโรคติดเชื้อ และความสะดวกในการปฏิบัติงาน แต่นโยบายนี้ก็ช่วยจำกัดความเสี่ยงได้


3.เฝ้าระวังความรุนแรง

ในพื้นที่เสี่ยง เช่น ห้องฉุกเฉิน หลายโรงพยาบาลมีมาตรการตรวจอาวุธ เพิ่มจำนวนเวรยาม หรือแม้แต่ขอความร่วมมือจากสถานีตำรวจส่งสายตรวจเฝ้าระวัง หวังเพื่อตรวจจับหรือลดระดับความรุนแรง


อันที่จริงมาตรการทั้ง 3 ลักษณะนี้เป็นมาตรการที่ดีและสมควรทำอย่างยิ่งค่ะ อย่างไรก็ดี security vs privacy โรงพยาบาลซึ่งเดิมทีเปิดกว้างเข้าถึงง่าย เมื่อจำต้องใช้นโยบายจำกัดหลายประการ ย่อมนำมาซึ่งความไม่เข้าใจ ความไม่พอใจ และข้อร้องเรียนที่มีต่อหน้างาน  


บางโรงพยาบาลเมื่อเกิดปัญหา ก็ปัดเป็นความบกพร่องเรื่องการสื่อสารของหน้างาน ขณะที่บางแห่งก็ปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้น กลายเป็นเรื่องบาดหมางมาแทรกซ้อนไป 


จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะหาหนทางจัดการ ให้นโยบายสร้างความปลอดภัยนั้นบังคับใช้ได้จริงอย่างลื่นไหลและนุ่มนวล



--


อันที่จริงเรื่องความรุนแรงในสถานพยาบาลไม่ใช่เพิ่งเกิดเป็นครั้งแรก และน่าเศร้าที่อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ไทยเรามีเจ้าหน้าที่ที่เก่งและสู้งาน มีระบบประกันสุขภาพที่สร้างหลักประกันอย่างน้อยไม่ป่วยจนล้มละลาย หากเรามีระบบหลังบ้านสนับสนุนการปฏิบัติงาน ที่ช่วยรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ผู้ป่วยและญาติไม่ต้องกังวลใจ เช่นนั้นย่อมเป็นส่วนช่วยสร้างให้สาธารณสุขไทยไปไกลยิ่งขึ้น


ดู 36 ครั้ง

Comments


bottom of page